เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ลูกหนี้นำมาค้ำประกันได้ แม้จะไม่ใช่ของลูกหนี้ก็ตาม

Last updated: 16 พ.ค. 2567  |  64 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ลูกหนี้นำมาค้ำประกันได้ แม้จะไม่ใช่ของลูกหนี้ก็ตาม

      เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ลูกหนี้นำมาค้ำประกันได้ แม้จะไม่ใช่ของลูกหนี้ก็ตาม

     การกู้ยืมเงินนั้นนอกจากจะต้องทำเป็นสัญญากู้ยืมขึ้นมาหรือมีหลักฐานแชทการยืมเงินกับสลิปการโอนเงินแล้ว เจ้าหนี้สามารถขอให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินรวมถึงโฉนดที่ดินมาค้ำประกันการชำระหนี้ได้ แม้โฉนดดังกล่าวจะไม่ใช่ของลูกหนี้ก็ตาม ซึ่งการนำโฉนดมาค้ำประกันไว้นั้นจะเป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในกรณีที่โฉนดที่ดินเป็นของลูกหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือไว้และไม่ยินยอมส่งมอบคืนได้ หากลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ซึ่งการที่เจ้าหนี้ยึดถือโฉนดไว้ดังกล่าวแม้จะไม่ได้นำไปจดทะเบียนจำนอง ขายฝาก ต่อสำนักงานที่ดินก็ตาม ก็มีสิทธิยึดถือไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย

           แต่หากโฉนดที่ดินไม่ใช่ของลูกหนี้ ก็ยังคงเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันคือเจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือไว้และไม่ยินยอมส่งมอบคืนได้ หากลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ได้ แต่ในส่วนนี้จะใช้เฉพาะตัวลูกหนี้กับเจ้าหนี้เท่านั้น หากต้องการให้มีผลบังคับไปถึงเจ้าของที่ดินด้วย เจ้าของที่ดินก็ต้องมีการมาลงลายมือชื่อในเอกสารเพื่อเป็นการยืนยอมให้นำโฉนดที่ดินของตนเองมาวางค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ด้วย โดยหากลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ลูกหนี้และเจ้าของโฉนดที่ดินก็ไม่มีสิทธิรับโฉนดคืน แต่หากเจ้าของโฉนดที่ดินไม่ได้ทราบเรื่องถึงการนำโฉนดที่ดินมาวางค้ำประกันหรือไม่ได้ให้ความยินยอมดังกล่าว เจ้าของโฉนดที่ดินมีสิทธิเรียกโฉนดที่ดินคืนได้ หากเจ้าหนี้ไม่คืนอาจทำให้ถูกดำเนินคดีทางอาญาได้

        และหากเป็นกรณที่ลูกหนี้นำโฉนดมาวางค้ำประกันการชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว และลูกหนี้มาหลอกลวงเจ้าหนี้เพื่อขอโฉนดที่ดินคืน ก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และ 341 ได้ โดยกฎหมายบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

        มาตรา 188  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

        มาตรา 341  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

         คําพิพากษาฎีกาที่ 2836/2564 จําเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายโดยจําเลยนําโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของบิดาจําเลยมามอบให้ผู้เสียหาย ต่อมาจําเลยมาขอรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนไปจากผู้เสียหายบอกว่าจะนําไปติดต่อขอกู้ยืมเงินมาใช้หนี้แก่ ผู้เสียหายและจะนําเงินที่กู้ยืมมาคืนให้ในวันเดียวกัน ผู้เสียหายจึงมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จําเลยไป แต่ จําเลยไม่ได้นําเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกันต่อมาเมื่อผู้เสียหายพบ ค. มาทวงหนี้จําเลยที่บ้านจําเลย ค. เปิดกระเป๋าแล้วนําโฉนดที่ดินขึ้นมาฉบับหนึ่ง ผู้เสียหายจําได้ว่าเป็นโฉนดที่ดินพิพาทแสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายทราบตั้งแต่เห็นโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับ ค. แล้วว่าถูกจําเลยหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินพิพาทไปให้ บุคคลอื่นและไม่นําเงินที่กู้ยืมคืนให้ผู้เสียหาย ถือได้ว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิดตั้งแต่ วันดังกล่าวเมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 96 บัญญัติว่า "ภายใต้ บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่อง ความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิดเป็นอันขาดอายุความ" เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพ้น กําหนดสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด คดีของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยในความผิดฐานฉ้อโกง

            ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินพิพาทของบิดาจําเลยโดยจําเลยนํามามอบให้ยึดถือเป็นประกัน เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงิน แม้ผู้เสียหายในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินพิพาทไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ยืมไม่เกี่ยวกับตัวโฉนดที่ดินพิพาทแต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงิน ระบุว่าผู้ผู้นําโฉนดที่ดินพิพาทมาให้ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืม อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทํา กันไว้ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่าง ผู้เสียหายกับจําเลย ย่อมมีผลทําให้ผู้เสียหายผู้ให้กู้มีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นํามาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชําระหนี้ ตามสัญญาเมื่อจําเลยยังไม่ชําระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้แก่ผู้เสียหายครบถ้วน จึงไม่มีสิทธิขอคืนโฉนดที่ดิน พิพาทจากผู้เสียหาย การที่จําเลยมาขอรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนไปจากผู้เสียหายโดยหลอกลวงว่าจะเอาโฉนด ที่ดินพิพาทไปกู้ยืมเงินบุคคลอื่น แล้วนําเงินมาชําระหนี้ให้ผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จําเลยไป แต่จําเลยไม่นําเงินมาชําระให้ผู้เสียหายตามข้อตกลงทําให้ผู้เสียหายไม่มีหลักประกันยึดถือไว้ตาม สัญญา ย่อมทําให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายการกระทําของจําเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จําเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188

        

 

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

สำนักงานทนายความ สำนักงานกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้