ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 397 - มาตรา 410

Last updated: 17 ก.พ. 2567  |  148 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 397 - มาตรา 410


              ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ – มาตรา 397 - มาตรา 410

              มาตรา 397  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดซึ่งเป็นหน้าที่บังคับให้ตัวการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ดี หรือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบำรุงรักษาผู้อื่นก็ดี และหากผู้จัดการมิได้เข้าทำแล้วกิจอันนั้นจะไม่สำเร็จภายในเวลาอันควรไซร้ การที่ได้ทำขัดกับความประสงค์ของตัวการเช่นนั้น ท่านมิให้ยกขึ้นเป็นข้อวินิจฉัย

               มาตรา 398  ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

               มาตรา 399  ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่าตนได้เข้าจัดการงานแทน และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้ นอกจากนี้ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 809 ถึง 811 อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา 400  ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น

               มาตรา 401  ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียกให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติมาตรา 816 วรรค 2 นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาในมาตรา 397 นั้น แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับความประสงค์ของตัวการก็ดี ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่

               มาตรา 402  ถ้าเงื่อนไขดังว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่าตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลายบรรดาที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้
               ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

               มาตรา 403  ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืน ผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้น
               การที่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย บำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี หรือกลับกันเป็นทางปฏิการะก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีเจตนาจะเรียกให้ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน

               มาตรา 404  ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้เป็นตัวการคนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น

               มาตรา 405  บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง
               ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเอง ทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดังบัญญัติไว้ในมาตรา 395, 396, 399 และ 400 นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดังว่ามานี้แล้ว ตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดังบัญญัติไว้ในมาตรา 402 วรรค 1

               มาตรา 406  บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
               บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

               มาตรา 407  บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

               มาตรา 408  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ
               (1) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น
               (2) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว
               (3) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม

               มาตรา 409  เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ถ้าจะพึงมี

               มาตรา 410  บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

 

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

 ทนาย ทนายความ สำนักงานกฎหมาย

สำนักงานทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้