เก็บเงินปลายทาง ลูกค้าปฎิเสธไม่รับสินค้า ต้องทำอย่างไร

Last updated: 23 ส.ค. 2566  |  1577 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เก็บเงินปลายทาง ลูกค้าปฎิเสธไม่รับสินค้า ต้องทำอย่างไร

                เก็บเงินปลายทาง ลูกค้าปฎิเสธไม่รับสินค้า ต้องทำอย่างไร

                การที่ร้านค้าใดมีบริการเก็บเงินปลายทาง ซึ่งเป็นการจัดส่งสินค้าที่ร้านค้าจะดำเนินการจัดส่งสินค้าไปให้แก่ลูกค้าก่อน โดยที่ลูกค้ายังไม่ต้องชำระเงินใดๆ จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะไปถึงลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการจัดส่งแบบเก็บเงินปลายทางเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการป้องกันการถูกโกงได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลเสียก็มักจะตกแก่ร้านค้าที่ลูกค้าอาจจะปฎิเสธไม่รับสินค้า ลูกค้าไม่รับของ หรือจัดส่งสินค้าไปแล้วปรากฎว่าไม่มีผู้ใดมารับสินค้า บ้านปิด ย้ายที่อยู่ไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งหากไม่สามารถจะเรียกเก็บค่าสินค้าได้ สินค้าดังกล่าวก็จะถูกตีกลับไปยังร้านค้า ทำให้ร้านค้านั้นสูญเสียค่าจัดส่งไปแบบฟรีๆ เพราะฉะนั้นเมื่อลูกค้าไม่ได้มีการรับสินค้าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ร้านค้า แม่ค้าออนไลน์ จะสามารถทำอย่างไรตามกฎหมายได้บ้าง

               มาตรา 168 การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

               มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน

               การที่จัดส่งแบบเก็บเงินปลายทางแล้วลูกค้าไม่ได้มีการรับสินค้า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องทางแพ่ง กล่าวคือผิดสัญญาซื้อขาย (แม้จะไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกันก็ตาม) กล่าวคือ เมื่อลูกค้าและร้านค้าตกลงที่จะซื้อขายกันแล้ว สัญญาซื้อขายย่อมเกิดขึ้นกรรมสิทธิ์ในสินค้าย่อมโอนไปยังลูกค้า ร้านค้าจึงมีหน้าที่จัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ และลูกค้าก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินค้าเมื่อสินค้าไปถึงลูกค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ หากลูกค้าไม่ชำระค่าสินค้าเมื่อสินค้าไปถึง ลูกค้าจึงถือเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายดังกล่าว แล้วผลคืออะไร ซึ่งผลก็คือ ร้านค้ามีสิทธิว่าจ้างทนายไปฟ้องต่อศาลให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าพร้อมกับค่าเสียหายได้ (ถ้ามี)

               แต่การจะฟ้องให้ลูกค้าชำระค่าสินค้านั้น มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งได้แก่ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่านำหมายศาล และร้านค้ายังต้องสละเวลาในการไปศาลด้วย หากมูลค่าของสินค้ามีจำนวนไม่สูงมากนัก การที่จะไปดำเนินการฟ้องต่อศาลจึงไม่คุ้มค่าที่จะไปดำเนินการฟ้องลูกค้าดังกล่าว แต่หากสินค้ามีมูลค่าสูงหลายหมื่นบาทหรือหลายแสน ก็คุ้มที่จะไปดำเนินการฟ้องร้องดังกล่าวได้ ซึ่งเมื่อเป็นคดีแพ่งนั้นจึงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องมีการไปฟ้องร้องด้วยตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากคดีอาญาที่สามารถไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในสถานีตำรวจได้และให้ตำรวจดำเนินการทำคดีและส่งฟ้องต่อศาลได้และพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ในกรณีที่เก็บเงินปลายทางแล้วลูกค้าไม่รับสินค้าก็ไม่ใช่คดีฉ้อโกงหรือคดีอาญาในข้อหาใดๆ ซึ่งจะมีโทษจำคุกหรือโทษปรับใดๆ

 



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้