รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดชอบจริงหรือไม่

Last updated: 17 ก.ค. 2566  |  1029 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดชอบจริงหรือไม่

         รถหายในห้าง ห้างต้องรับผิดชอบจริงหรือไม่

         มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

         หากลูกค้าได้นำรถเข้าจอดของห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมรีสอร์ท และได้เข้าใช้บริการหรือซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมรีสอร์ท เป็นหน้าที่โดยตรงที่ห้างต้องให้ความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตลูกค้าและทรัพย์สินต่างๆ ของลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึงรถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดที่ลานจอดรถของห้างด้วย หากเกิดเหตุทำให้รถสูญหาย ทางห้างต้องรับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอด ตามระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

          คำแนะนำเบื้องต้นเมื่อรถหายในห้าง

         สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันเบื้องต้น ตรวจสอบทรัพย์สินที่มีค่าก่อนออกจากรถ ล็อกและตรวจเช็กประตูรถทั้งหมด เลือกจอดในจุดที่ไม่เป็นมุมอับสายตา ถ่ายรูปตำแหน่งที่จอด สังเกตกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยป้องกันภัยให้กับรถเบื้องต้นได้ และเมื่อเข้ามาใช้บริการภายในห้างแล้วต้องมีการใช้บริการในห้างนั้นด้วยซึ่งวิธีง่ายๆคือการขอใบเสร็จทุกครั้งที่จ่ายเงินหรือรับบริการใดๆก็ตาม เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการใช้บริการในห้างสรรพสินค้าและเพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดี

         หากเกิดเหตุการณ์รถหายในห้างสิ่งที่ต้องทำคือ เจ้าของรถต้องแจ้งดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อป้องกันการขาดอายุความ

 
         ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

         คำพิพากษาฎีกาที่ 12994/2556, 6616/2558, 12372/2558 กรณีจอดรถในห้างสรรพสินค้ามิใช่เรื่องฝากทรัพย์หรือการเช่าที่จอดรถ แต่ต้องพิจารณาถึงหน้าที่และความรับผิดฐานละเมิดโดยห้างสรรพสินค้ามีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าขายต้องให้ความสำคัญด้านบริการความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า ทั้งต้องบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถจึงเป็นหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังและเสี่ยงภัยเอาเอง หากรถยนต์ของลูกค้าสูญหายโดยความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลห้างสรรพสินค้านั้นก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ราคารถยนต์ที่สูญหาย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตามก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4845/2555 จำเลยที่ 1 มีข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะนำรถเข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน และเมื่อจะนำรถออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องนำบัตรจอดรถมอบคืนแก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกจึงจะนำรถออกจากลานจอดรถได้ แม้ผู้ที่มาใช้บริการที่จอดรถเป็นผู้เลือกที่จอดรถ ดูแลปิดประตูรถ และเก็บกุญแจรถไว้เอง และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณที่จอดรถดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตลอดจนรถที่ลูกค้าจะนำเข้าจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยโดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ อ. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายในการที่รถสูญหายจึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้



 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้