เอาผิดพรากผู้เยาว์ได้อย่างไรบ้าง

Last updated: 22 ก.พ. 2566  |  26887 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เอาผิดพรากผู้เยาว์ได้อย่างไรบ้าง

               ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองเป็นสำคัญเพราะเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครอง บิดามารดาหรือผู้ดูแล ฉะนั้นแม้ผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ โดยคำว่า “พราก” หมายถึงการพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแล  โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ถูกรบกวนหรือถูกกระทบ โดยบิดามารดาผู้เยาว์ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เยาว์ ทั้งนี้ไม่ว่าผู้เยาว์จะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดายังเอาใจใส่ผู้เยาว์ ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตลอดเวลา ดังนั้น การจะเป็นการพรากได้จะต้องมีการกระทำทางกายภาพที่มีลักษณะเป็นพาไปประกอบอยู่ด้วย

               ความผิดฐานพรากผู้เยาว์แบ่งออกเป็น 3 ประภท

               1.ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

               2.ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ไม่ได้ให้ความยินยอม

               3.ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม

               ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

              ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

              ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

              ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท”

              หลักเกณฑ์ที่สำคัญของมาตรา 317 มีดังนี้

              1.ต้องเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

              2.พรากไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

              3.การพาเด็กไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร

              4.เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

              จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพด้วยต่างหาก ซึ่งสาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควรที่พาเด็กไป หากพาไปเด็กไปโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ที่พาเด็กไปนั้นจะมีความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตามมาตรา 317

              อย่างไรก็ดี หากผู้ใดได้พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อหากำไร หรือการอนาจาร ผู้นั้นจะต้องรับโทษหนักขึ้น เนื่องจากมาตรา 317 วรรค 3 เป็นเหตุเพิ่มโทษ

              ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ไม่ได้ให้ความยินยอม

              ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

              ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

              ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท”

              หลักเกณฑ์ที่สำคัญของมาตรา 318 มีดังนี้

              1. ต้องเป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี

             2. พรากไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

             3. ผู้เยาว์ต้องไม่เต็มใจไปด้วย

             4. เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

            จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ความผิดตามมาตรานี้เป็นการพรากผู้เยาว์ ไม่ใช่การพรากเด็กเหมือนมาตรา 317 เพราะมาตรา 318 เป็นการกระทำต่อบุคคลที่มีอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน18 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ และผู้เยาว์นั้นไม่ได้เต็มใจไม่ด้วย  หากผู้เยาว์นั้นเต็มใจจะไม่ต้องตามเกณฑ์มาตรา 318 แต่จะต้องตามเกณฑ์มาตรา 319 ที่จะกล่าวต่อไป

            อย่างไรก็ดี หากผู้ใดได้พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี เพื่อหากำไร หรือการอนาจาร ผู้นั้นจะต้องรับโทษหนักขึ้น เนื่องจากมาตรา 318 วรรค 3 เป็นเหตุเพิ่มโทษ

            ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยเด็กได้ให้ความยินยอม

            ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

            ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น”

            หลักเกณฑ์ที่สำคัญของมาตรา 319 มีดังนี้

            1. ต้องเป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี

           2. พรากไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

           3. ผู้เยาว์ต้องเต็มใจไปด้วย

           4. เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

           5. มีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

         จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เช่นเดียวกับมาตรา 318 ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ข้อแตกต่างของมาตรา 319 นี้ จะเป็นกรณีที่ผู้พรากได้มีเหตุชักจูงใจที่พรากผู้เยาว์นั้นไปเพื่อหากำไรหรืออนาจารซึ่งไม่ใช่เป็นเหตุเพิ่มโทษเหมือนมาตรา 318 ทั้งนี้เป็นกรณีที่ผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

           ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ยอมความได้หรือไม่

           ความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน (ยอมความไม่ได้) แม้จะสามารถเจรจาตกลงกันได้แต่ก็ไม่สามารถยอมความกันได้ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีต่อไปได้

         คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2546 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก คำว่า "พราก" หมายความว่า พาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล จะกระทำโดยวิธีใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบาย ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารแล้ว

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2542 ความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 เพื่อเอาโทษแก่ผู้ที่พรากเด็ก แม้เด็กเต็มใจไปด้วยการพรากเด็กตามมาตรานี้มิได้จำกัดว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใด ถ้าเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีแล้วย่อมเป็นความผิดแม้เด็กจะมีรูปร่างใหญ่โต มีความรู้สึกผิดชอบเกินกว่า ปกติก็ตาม และการพรากก็มิได้จำกัดว่าพรากไปเพื่อประสงค์ใด หรือประโยชน์อย่างใดเพียงแต่มีเจตนาพรากเด็กไปเสียจาก บิดามารดาก็เป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าจำเลยพรากเด็กไปโดยมีเหตุอันสมควรก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ปรากฏว่าผู้เสียหายกำลังศึกษาเล่าเรียนยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพราก ผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาขณะที่บิดามารดาจำต้อง อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่าง ที่เป็นผู้เยาว์และมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรอันเป็นสิทธิ และหน้าที่ของบิดามารดาและบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การกระทำของจำเลยจึงปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก แต่เมื่อจำเลยกับผู้เสียหายรักกันด้วยความสุจริตใจ ต่างมีเจตนาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและศาลมีคำสั่ง อนุญาตให้สมรสและมีบุตรด้วยกัน การกระทำของจำเลย ขาดเจตนากระทำเพื่อการอนาจาร จึงไม่มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517 บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2537 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร มุ่งหมายถึงการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอันไม่สมควรทางเพศ แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เป็นความผิดฐานอนาจารเนื่องจากผู้เสียหายยินยอม แต่ก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารได้ การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนค้างคืนที่ขนำในสวนโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยแล้วจำเลยได้กอดปล้ำ หอมแก้ม และจับหน้าอกผู้เสียหายถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย ตามมาตรา 318 แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยกับจำเลยอันเป็นกรณีตามมาตรา 319 ซึ่งมีโทษเบากว่าศาลย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา 319 ได้ เพราะการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร จะโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ก็ตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดทั้งสองกรณี แม้บิดามารดาของผู้เสียหายจะออกไปนอกบ้านขณะที่ผู้เสียหายออกจากบ้านและจำเลยได้พาไปที่ขนำก็ตาม ยังถือว่าผู้เสียหายอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปที่ขนำจึงเป็นการพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2531 แม้ผู้เสียหายจะยอมให้จำเลยร่วมประเวณีซึ่งถือไม่ได้ว่า เป็นการข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหาย ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ก็เป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 38 ปีและมีภริยาอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจตนาจะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยาการกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง แล้ว

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2541 การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาผู้เสียหายไปทำงานในร้านอาหารแต่กลับพาไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณีจะนับว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยไม่ได้เพราะผู้เสียหายไม่ได้เต็มใจไปค้าประเวณีมาแต่ต้น แต่ไปกับจำเลยเพราะจำเลยหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานที่ร้านขายอาหารของน้องสาวจำเลยและการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายแล้วพาผู้เสียหายไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณี ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะล่อผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสอง และมาตรา 318 วรรคสาม

 




ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้