การแบ่งทรัพย์สินและแบ่งหนี้ตอนหย่า - ทนายนิธิพล

Last updated: 17 ต.ค. 2565  |  15847 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแบ่งทรัพย์สินและแบ่งหนี้ตอนหย่า - ทนายนิธิพล

การแบ่งทรัพย์สินและแบ่งหนี้ตอนหย่า

 

          เมื่อคู่สมรสจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นภายหลังจากการจดทะเบียนสมรสย่อมถือเป็นสินสมรสที่คู่สมรสจะมีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวด้วยกันคนละส่วนเท่าๆกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์หรือหนี้สินก็ตาม เมื่อสามีภรรยาต้องการจะหย่าขาดจากกัน ตามกฎหมายก็ต้องแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างกันให้ชัดเจน โดยสามารถบันทึกลงในหลังใบหย่าหรือที่เรียกว่า สลักหลังใบหย่าได้หรือทำเป็นบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาขึ้นมา หากมีรายละเอียดการแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินหลายรายการ หากคู่สมรสสามารถตกลงกันได้ การแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินก็จะเป็นไปตามที่ตกลงกัน

          ในส่วนทรัพย์สินมักไม่ค่อยมีปัญหาในกรณีที่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้ แต่ที่มักจะพบปัญหาก็คือในส่วนหนี้สิน ที่คู่สมรสไม่สามารถตกลงแบ่งหนี้สินกันได้ว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้สินดังกล่าว แต่การแบ่งหนี้สินนั้นเป็นการตกลงกันเองระหว่างคู่สมรสบังคับใช้ระหว่างสามีและภรรยาได้เท่านั้น แต่จะนำข้อตกลงหลังใบหย่า บันทึกข้อตกลงการหย่าหรือสัญญาการหย่า ไปบังคับใช้กับเจ้าหนี้ไม่ได้ หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้เหมือนเดิม แม้ว่าหนี้จะแบ่งระหว่างกันไปแล้วก็ตาม แต่ในส่วนนี้หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชดใช้หนี้หรือถูกบังคับยึดทรัพย์ของตนเองไปแทนคู่สมรสอีกฝ่ายแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้คู่สมรสที่มีหน้าที่รับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวนั้น ชดใช้เงินตามที่จำนวนที่คู่สมรสอีกฝ่ายได้รับผิดชอบไปแทนนั้นได้ แต่ไม่ใช่การชดใช้เงินดังกล่าว คู่สมรสฝ่ายที่ชดใช้หนี้แทนก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องเงินในจำนวนดังกล่าวได้

          ซึ่งเรื่องการแบ่งสินสมรสนั้นก็จะเกิดปัญหาอยู่เสมอจนถึงขนาดไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนหย่ากันด้วยความสมัครใจได้ เพราะคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจกับการแบ่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน จึงไม่ยินยอมที่จะไปดำเนินการหย่าให้กับคู่สมรสอีกฝ่าย ซึงหากคู่สมรสไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องมีการว่าจ้างทนายความดำเนินการฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลตัดสิน แต่การแบ่งสินสมรสก็ย่อมสามารถที่จะฟ้องไปในคราวเดียวกันกับการฟ้องหย่าได้ หากการฟ้องหย่านั้น มีเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516

          ส่วนในกรณีที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเจรจาในการแบ่งทรัพย์สินหรือหนี้สินระหว่างกันได้ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะฟ้องต่อศาลได้ เพื่อให้มีการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาหรือขอศาลให้มีประมูลทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยากันเองก่อน แต่หากทำไม่ได้ก็ขอให้มีการนำเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เมื่อขายทอดตลาดได้แล้วก็นำเงินดังกล่าวมาแบ่งกันคนละครึ่งก็ย่อมสามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน

 

          กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

             มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

               (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

               (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

               (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

               (4) ที่เป็นของหมั้น

             มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

               (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

               (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

               (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

             มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

             มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

          หากคุณกำลังมีปัญหาในเรื่องการแบ่งสินสมรส หรือหากต้องการให้มีการร่างบันทึกข้อตกลงขึ้นมาหรือดำเนินการฟ้องศาล สามารถติดต่อเข้ามาปรึกษากับทางสำนักงานของเราได้ ทางสำนักงานของเรามีความพร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณในการแก้ปัญหาดังกล่าว ตามช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ

 

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้