ที่ดิน ภ.บ.ท.5 คืออะไร - ทนายนิธิพล

Last updated: 21 ก.ย. 2565  |  25561 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 คืออะไร - ทนายนิธิพล

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 คืออะไร ?

          ที่ดิน ภ.บ.ท.5 เป็นเพียงเอกสารที่รับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้คือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีหน้าที่รับจ่ายเงินภาษีและลงบันทึกไว้ และออกเอกสารที่เรียกว่า ภ.บ.ท. 5 ให้ผู้ชำระภาษีไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น ภ.บ.ท. 5 จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิที่ดินเพราะไม่ได้ออกโดยกรมที่ดิน และ อบต. ไม่มีอำนาจตรวจสอบการครอบครองที่ดิน

 

ที่ดิน ภ.บ.ท.5 ซื้อขายได้หรือไม่ ?

          โดยหลักแล้วที่ดิน ภ.บ.ท.5 นั้นจะซื้อขายกันไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ ซึ่งยังไม่รู้ว่าต่อไปจะสำรวจออกเอกสารสิทธิหรือไม่อย่างไร หากที่ดินไม่ได้อยู่ในเขตป่าฯ, เขตปฏิรูปที่ดิน, เขตที่สาธารณประโยชน์, ที่หลวงสงวนหวงห้าม นั้นสามารถนำรังวัดออกโฉนดได้โดยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามโครงการของกรมที่ดิน ซึ่งมีโครงการทุกปี แต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล ซึ่งจะประกาศเป็นพื้นที่ๆไปต้องคอยติดตามประกาศของกรมที่ดิน แต่ก็มีลักษณะที่เป็นการซื้อขายกันเองโดยการโอนเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ กล่าวคือ ชำระราคา ส่งมอบการครอบครอง และเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีในใบเสียภาษีบำรุงท้องที่มาเป็นชื่อผู้ซื้อ

 

ซื้อขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 กันเอง จะสามารถใช้ยันต่อทางราชการได้หรือไม่ ?

          เนื่องจากที่ดิน ภ.บ.ท. 5 นั้นไม่อยู่ในการรับรองสิทธิโดยกรมที่ดิน จึงมีความเสี่ยงที่ที่ดินดังกล่าวอาจจะเป็นที่ดินที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่แล้ว ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณะ ที่ป่าสงวน ป่าชายเลนหรืออุทยานแห่งชาติ รวมไปถึงที่ดินในเขตทหาร ซึ่งผู้ครอบครองโดยถือเอกสาร ภ.บ.ท. 5 นั้นไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะคัดค้านการยึดที่ดินคืนจากภาครัฐได้ จึงต้องยอมรับความเสี่ยงนี้ แต่การตรวจสอบกับกรมป่าไม้และกรมทหารจะทำให้ทราบว่าเป็นที่ป่าไม้หรือที่ทหารหรือไม่ และการตรวจสอบกับกรมที่ดินทำให้ทราบว่าที่ดินเป็นที่ของบุคคลอื่นที่ถือกรรมสิทธิอยู่หรือไม่ก็สามารถลดความเสี่ยงจากการเรียกคืนที่ดินลงได้บ้าง ข้อมูลที่จะใช้ในการตรวจสอบคือพิกัดและระวางของที่ดินซึ่งระบุอยู่บน ภ.บ.ท. 5

          นอกจากนี้ การซื้อที่ดิน ภ.บ.ท. 5 ยังมีความเสี่ยงเรื่องขนาดที่ดินที่จะได้รับอาจคลาดเคลื่อนจากที่ระบุไว้ในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 เนื่องจากเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จะระบุเนื้อที่โดยประมาณจากผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ไม่ได้เป็นการรังวัดหรือคำนวณเนื้อที่ตามหลักการของกรมที่ดิน และหลักวิชาการทางแผนที่ซึ่งมีความละเอียดและแม่นยำ ถ้าหากมีการรังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิที่ดินในอนาคตปริมาณเนื้อที่อาจจะลดลงจากที่ระบุใน ภ.บ.ท. 5 ได้

 

ที่ดิน ภ.บ.ท. 5 นำมาขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ ?

          ภ.บ.ท. 5 สามารถใช้เป็นเอกสารประกอบในการขอออกโฉนดที่ดินได้ หากที่ดินดังกล่าวมิได้เป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ภ.บ.ท.5 เป็นเพียงแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีท้องที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน บุคคลที่มีชื่อใน ภ.บ.ท.5 อาจจะไม่ใช่เจ้าของที่ดินและที่ดินอาจจะเป็นที่หวงห้ามที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินก็อาจเป็นได้ การซื้อขายที่ดินที่มีเพียง ภ.บ.ท.5 จึงเป็นการเสี่ยงภัยของผู้ซื้อ หากท่านจะซื้อที่ดินที่มีหลักฐาน ภ.บ.ท.5 ให้ยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อพิสูจน์สิทธิก่อนว่าสามารถออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่

 

สามารถปลูกบ้านบนที่ดิน ภ.บ.ท.5 ได้หรือไม่ ?

          ผู้ครอบครองที่ดินสามารถปลูกบ้านหรือสร้างอาคารบนที่ดิน ภ.บ.ท. 5 ได้ โดยยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แล้วจึงนำใบอนุญาตก่อสร้างที่ อบต. ออกให้ไปขอบ้านเลขที่จากผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นนำเลขที่บ้านไปขอออกทะเบียนบ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอ เมื่อมีทะเบียนบ้านแล้วสามารถติดต่อขอใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์ได้ต่อไป

 

คำพิพากษาศาลที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15551/2553

          ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันเป็นที่ดินมือเปล่า (ภ.บ.ท.5) เจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อตามสัญญาระบุว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองแล้วในวันทำสัญญา โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ใดๆที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาอีก ดังนั้น การที่โจทก์จะเข้าทำการรังวัดแนวเขตที่ดินเพื่อครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่ใช่ข้อผูกพันอันเกี่ยวเนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท การที่จำเลยทั้งสองคัดค้านและขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์ทำการรังวัด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปทำการวัดแนวเขตที่ดินพิพาท หรือให้คืนเงินค่าซื้อที่ดิน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7740/2555

          ที่ดินพิพาทมีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์ผู้จะขายทำสัญญากับจำเลยทั้งสองผู้จะซื้อว่า ที่ดินพิพาท ราคา 1,500,000 บาท จะทำการโอนที่ดินใบ ภ.บ.ท.5 ให้แก่จำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้วางมัดจำให้โจทก์ไว้เป็นเงิน 730,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเป็นแบบพิมพ์สำเร็จรูป ซึ่งมีการกรอกข้อความไปตามรายการในแบบพิมพ์เพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น แต่โดยเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองแท้จริงแล้ว เป็นการทำสัญญาซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกัน เพราะที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารแสดงสิทธิใดๆ คงมีเพียงสิทธิครอบครองโดยการยึดถือเท่านั้น จึงสามารถโอนการครอบครองแก่กันได้ด้วยวิธีส่งมอบที่ดินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 เมื่อโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาครบถ้วน จำเลยทั้งสองย่อมมีหน้าที่ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ แทนที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญา แต่โจทก์กลับมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ และจำเลยที่ 2 ก็ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้จำนวน 730,000 บาท กรณีจึงถือได้ว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5408/2557

          ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด  ให้ถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 และที่ราชพัสดุหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ครอบครองที่ดินพิพาทและขายสิทธิครอบครองนั้นให้แก่โจทก์ โดยโอนไปซึ่งการครอบครองตาม มาตรา 1378  ในระหว่างเอกชนด้วยกัน การขายสิทธิครอบครองที่ดินของรัฐใช้บังคับได้ โจทก์ทำนิติกรรมซื้อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมีแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5)  และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 11)  จากจำเลยที่ 1 ด้วยใจสมัครตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149  โดยทราบดีว่าเป็นที่ดินมือเปล่าอันเป็นของรัฐ เมื่อจำเลยที่ 1 โอนไปซึ่งการครอบครองต้องตามวัตถุประสงค์แล้ว โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10544/2553

          ตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่ พ. ซึ่งเป็นผู้ขายไป 2,000,000 บาท ครบถ้วนแล้ว และ พ. ให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันทำสัญญา แต่จากคำเบิกความของโจทก์ได้ความว่าโจทก์ชำระราคาไปเพียง 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเมื่อโอนชื่อกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งโจทก์อธิบายว่าที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารสิทธิแต่มีใบ ภ.บ.ท. 5 ที่ พ. และ จ. นำมาให้ดูว่าเป็นหลักฐานแสดงการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงตกลงซื้อ ที่โจทก์เบิกความถึงการโอนชื่อจึงหมายถึงการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในเอกสารดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ ดังที่ได้ความจาก พ. ว่าวันที่ไปโอนที่ดินพิพาทที่ซื้อจาก น. ได้มีการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีที่ดินในใบ ภ.บ.ท. 5 มาเป็นชื่อของ พ. ดังนี้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าฝ่าย พ. ผู้จะขายไม่ติดใจเรียกร้องให้โจทก์ผู้จะซื้อชำระราคาส่วนที่เหลือจะถือว่าฝ่าย พ. สละการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท หากโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนฝ่าย พ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้