ก่อนทำสัญญาควรเช็คข้อมูลและความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาก่อน - ทนายนิธิพล

Last updated: 30 ส.ค. 2565  |  762 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก่อนทำสัญญาควรเช็คข้อมูลและความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาก่อน - ทนายนิธิพล

ก่อนทำสัญญาควรเช็คข้อมูลและความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาก่อน

 

          การที่จะทำสัญญากับใครนั้น จำเป็นที่จะต้องเช็คข้อมูลและความน่าเชื่อถือของคู่กรณีก่อนเป็นอันดับแรก ไม่สามารถมองเพียงภาพลักษณ์ภายนอกได้เท่านั้น ยิ่งหากจะต้องทำสัญญาอะไรที่มีความสำคัญหรือมียอดเงินในจำนวนที่สูงยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ แม้จะเป็นคนใกล้ชิดก็ไม่สามารถไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย สัญญารับเหมาก่อสร้าง สัญญาร่วมลงทุน และสัญญาอื่นๆ โดยบทความนี้สำนักงานจะมาบอกข้อมูลว่าสามารถเช็คข้อมูลและความน่าเชื่อจากคู่สัญญาอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการถูกโกง หรือการผิดสัญญากันได้ หรือแม้จะผิดสัญญาก็ยังมีช่องทางที่ยังพอจะฟ้องและยึดทรัพย์สินจากคู่กรณีได้ ดังนี้

             1) เช็คประวัติอาชญากรรมของคู่สัญญา ว่าเคยมีประวัติทางอาญามาแล้วหรือไม่ ถูกออกหมายจับหรือหลบหนีอยู่หรือไม่ และเรื่องที่มีประวัติอาชญากรรมเป็นเรื่องอะไร

             2) เช็คประวัติการฟ้องคดีและประวัติการถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา การที่เช็คตรงส่วนนี้จะทำให้เห็นถึงพฤติกรรมของคู่สัญญาได้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร มีการฟ้องคนอื่นบ่อยแค่ไหน หรือเคยถูกฟ้องเป็นจำเลยหรือไม่ หากเป็นคนที่ฟ้องคนอื่นหลายคดี ก็จะส่อให้เห็นว่า คู่สัญญามักมีความขัดแย้งกับผู้อื่นอยู่เสมอ (แต่ก็ต้องไปดูประเด็นของการฟ้องด้วยว่าเป็นเรื่องอะไร) หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยบ่อย หากถูกฟ้องเรื่องผิดสัญญา หรือผิดนัดชำระหนี้ก็จะทำให้เห็นว่า เป็นคนเชื่อถือไม่ได้ และมีปัญหาทางด้านการเงิน

             3) เช็คที่อยู่ของคู่สัญญา หรือสถานที่ตั้งของบริษัท ว่าตามที่อยู่เป็นที่อยู่จริงๆของคู่สัญญาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาได้อีกประการหนึ่ง เพราะหากคู่สัญญาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจน ไม่มีที่ตั้งสำนักงานหรือบริษัท เป็นเพียงการเอาที่อยู่อื่นหรือที่อยู่ที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริงมาแสดงเท่านั้น ย่อมจะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง และหากเกิดการผิดสัญญาขึ้นย่อมจะตามตัวคู่สัญญาได้ยาก จึงควรจะตรวจสอบในส่วนนี้ด้วย

             4) เช็คทรัพย์สินของคู่สัญญาก่อนทำสัญญา เพราะหากคู่สัญญามีทรัพย์สินที่เยอะ หากมีการผิดสัญญากันเกิดขึ้น ย่อมสามารถที่จะไปฟ้องร้องและบังคับคดีกับทรัพย์สินเหล่านั้นได้ อาจจะเสียเงินค่าดำเนินการฟ้องและเสียเวลาแต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือทำให้เกิดความเสียหายมากจนเกินไปได้

             5) หากคู่สัญญาเป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท เป็นต้น ก็สามารถที่จะไปเช็คข้อมูลต่างๆจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละท้องที่ได้ว่า นิติบุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอะไรบ้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมการ การส่งงบการเงิน การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เป็นต้น

             6) เช็คประวัติการเปลี่ยนชื่อของคู่สัญญา หากมีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุล บ่อยจนผิดปกติก็อาจจะแสดงให้เห็นถึงการหลบหนีการชำระหนี้หรือไม่ และข้อนี้ต้องเอาไปพิจารณาประกอบกับข้ออื่นๆ

          จากข้อมูลในข้างต้น มีบางข้อทนายความมีอำนาจกระทำการได้เท่านั้น แต่บางข้อบุคคลทั่วไปก็สามารถเช็คข้อมูลได้เอง ก่อนทำสัญญาใดควรเช็คข้อมูลเหล่านี้ก่อน เพื่อลดปัญหาการผิดสัญญาหรือการโกงเงินต่อกันได้ส่วนหนึ่ง เมื่อเช็คข้อมูลของคู่สัญญาแล้วคู่สัญญาไม่มีความน่าเชื่อถือก็ควรหลีกเลี่ยงโดยทันที หากคุณต้องการให้ทางสำนักงานของเราดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นของคู่สัญญา สามารถติดต่อได้ที่ช่องทางการติดต่อด้านล่างเลยครับ เรายินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณ

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้