การบังคับจำนอง ต้องทำอย่างไร - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  12742 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบังคับจำนอง ต้องทำอย่างไร - ทนายนิธิพล

          เจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สิน (จำนองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ) ของลูกหนี้ไว้เป็นประกัน แล้วลูกหนี้ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา แล้วเจ้าหนี้ผู้รับจำนองจะบังคับทรัพย์สินที่จำนองไว้นั้น จะต้องทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ทราบ และจะต้องบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 60 วัน นับตั้งแต่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าว หากลูกหนี้ไม่ปฎิบัติตามคำบอกกล่าวดังกล่าว เจ้าหนี้ผู้รับจำนองจึงจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับจำนองและนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามมูลหนี้ในสัญญา

             ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

             เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

             ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนอง ซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว

             การทำหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้นั้น จะต้องให้ทนายความเป็นผู้ทำหนังสือบอกกล่าว โดยมอบอำนาจให้ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ภายใน 60 วัน ก็ให้ทนายความดำเนินการทำเรื่องบังคับจำนองต่อศาลในลำดับถัดไป

 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2550

             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อจะบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเท่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนองไปในคำบอกกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นทั้งลูกหนี้และผู้จำนอง ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์สินที่จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ไว้แก่โจทก์ คือห้องชุดเลขที่ 54/225 หาใช่ห้องชุดเลขที่ 0225 การที่หนังสือบอกกล่าวระบุทรัพย์สินที่จำนองเป็นห้องชุดเลขที่ 0225 เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องการพิมพ์ตัวเลขผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทำการไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ว่าให้ชำระหนี้ภายใน เวลาอันสมควรแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้