ออกรถให้คนอื่น สุดท้ายตามรถคืนมาไม่ได้ - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  51404 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ออกรถให้คนอื่น สุดท้ายตามรถคืนมาไม่ได้ - ทนายนิธิพล

          การออกรถให้คนอื่นไปผ่อน เป็นการกระทำที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ออกในชื่อของท่าน ท่านมีนิติกรรมสัญญากับทางไฟแนนซ์โดยตรง เมื่อเกิดการผิดสัญญาขึ้นท่านก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อไฟแนนซ์ ซึ่งการออกรถ เช่าซื้อรถนั้น ไฟแนนซ์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าว ส่วนท่านมีสิทธิแค่เพียงผู้ครอบครองรถเท่านั้น ไม่มีสิทธินำรถไปขายหรือไปให้ผู้อื่นครอบครองต่อ เมื่อออกรถไปให้ผู้อื่นแล้วเขาไม่ผ่อนต่อ หรือชำระค่างวดไม่ตรง ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อห้ามค้างค่างวดเกิน 2-3 งวดติดต่อต่อกัน แล้วแต่ข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อของแต่ละไฟแนนซ์

          เมื่อผิดสัญญาแล้วไฟแนนซ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และท่านในฐานะผู้เช่าซื้อจำต้องคืนรถหรือไม่ก็ชำระราคาค่ารถตามมูลค่าทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านเป็นเพียงแค่คนออกรถให้ และไม่ได้เป็นคนใช้รถด้วย แต่เมื่อเกิดการผิดสัญญาขึ้นมา ท่านก็จะต้องรับผิดให้แก่ไฟแนนซ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหากยิ่งท่านไม่สามารถตามรถกลับคืนมาให้ไฟแนนซ์ยึดได้ ก็จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น เพราะไฟแนนซ์สามารถดำเนินการกับท่านได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา

               คดีอาญา เมื่อไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญาแล้ว เขาจะเรียกรถคืน เมื่อท่านไม่คืนรถภายในกำหนด ไฟแนนซ์มีสิทธิดำเนินคดีกับท่านในข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

               มาตรา 352 บัญญัติว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               นอกจากการผิดนัดชำระหนี้ต่อไฟแนนซ์แล้ว ยังมีความเสี่ยงในประการอื่นๆอีก เช่น เมื่อผู้ใช้รถได้กระทำผิดขับรถยนต์โดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บหรือตาย และได้ทำการหลบหนี ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถ ก็จะต้องมีส่วนที่จะต้องไปพบตำรวจหรือเบื้องต้นอาจถูกดำเนินคดีได้ หรือผู้ที่ใช้รถได้นำรถไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถ ก็จะต้องมีส่วนที่จะต้องไปพบตำรวจและรถอาจถูกยึดเป็นของกลาง หรือหากผู้ใช้รถได้ใช้รถผิดกฎหมายจราจร และไม่ได้เสียค่าปรับในขณะนั้น ก็จะมีใบค่าปรับส่งมาให้เจ้าของรถคันดังกล่าวไปชำระค่าปรับตามกฎหมายจราจร เป็นต้น

               คดีแพ่ง จะเป็นกรณีที่ไฟแนนซ์ฟ้องท่านในเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ โดยขอให้ท่านส่งมอบรถคืนหรือชำระค่ารถยนต์ทั้งหมด เมื่อท่านไม่สามารถคืนรถได้ ก็ต้องชำระราคาทั้งหมด หากท่านไม่ชำระ เมื่อไฟแนนซ์ชนะคดีแล้ว ไฟแนนซ์ก็มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีในลำดับต่อไป

               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติว่า ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

               อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้