ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก - ทนายนิธิพล

Last updated: 26 ต.ค. 2564  |  15532 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก - ทนายนิธิพล

                                          การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

               มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่าง ๆ เงินฝากในธนาคาร เป็นต้น

              ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ทายาท มี 2 ประเภท คือ

              1. ผู้รับพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม

              2. ทายาทโดยธรรมคือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้

                       (1) ผู้สืบสันดาน

                       (2) บิดามารดา

                       (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

                       (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

                       (5) ปู่ ย่า ตา ยาย

                       (6) ลุง ป้า น้า อา

                       คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย

 

             ผู้มิสิทธิยื่นร้องขอจัดการมรดก

                       1.  ทายาทโดยธรรม

                       2.  ผู้มีส่วนได้เสีย

 
            หน้าที่ของผู้จัดการมรดก

                       ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้

            ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี

             การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ให้ยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ได้แก่ ศาลแพ่ง (กทม.), ศาลจังหวัด (ต่างจังหวัด)หากผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล


 

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่เดี่ยวข้อง 

 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2559

           ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษ ให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกในการกรณีที่จัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง เสียภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ต้องหมายถึงกรณีที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก หรือจัดการทรัพย์มรดกไปตามปกติมิใช่กรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่เบียดบัง ยักยอก และปกปิดโดยทายาทไม่รับรู้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทอื่นเลย นอกจากจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรคนเดียวของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 5 คน บางคนก็แยกไปประกอบอาชีพที่อื่น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องตกได้แก่พี่น้องคนอื่นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจะโอนขายที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกไปให้แก่ผู้อื่นโดยทายาทมิได้ให้ความยินยอมทุกคน จำเลยที่ 2 ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีเช่นกัน จะอ้างว่าเป็นผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้เป็นการตอบแทนหาได้ไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต ดังนั้นการจัดการมรดกรายนี้จึงไม่ชอบ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย อายุความห้าปียังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะทำนิติกรรมในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ แม้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจัดการมรดกที่ไม่ชอบ ก็ขอให้เพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกเสียใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมในส่วนที่มิใช่เป็นทรัพย์มรดกไม่ได้ ที่ศาลล่างพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558

              ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558

            ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก
คำพิพากษาในส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460/2558

             คดีนี้เป็นคดีจัดการมรดกซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วกี่ปีก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้เกินกว่า 34 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิที่ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ หาจำต้องยื่นภายในกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 อันเป็นบทบัญญัติเรื่องการฟ้องคดีมรดกไม่

 
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2552

             แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว
นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้คัดค้านทั้งสามร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนได้ ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอาจจะไม่ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมแต่ให้ตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้หากศาลเห็นว่าจะเป็นการทำให้ทายาททุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอยู่เดิมมีเจตนาปกปิดจำนวนทายาทที่แท้จริงและละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ แต่ก็ปรากฏว่าก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายได้พักอาศัยอยู่กับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย แม้ขณะผู้ตายป่วยก็ไม่เคยไปดูแล ทั้งเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ไปร่วมงานศพ และไม่มีส่วนออกค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพของผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 อาจจะไม่ค่อยมีความผูกพันหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายมากนัก การจะตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 คนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้จัดการมรดกเพียงลำพังจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่อีกฝ่ายและไม่เกิดประโยชน์แก่กองมรดกสมดังเจตนาของผู้ตาย เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้