คดีค้ำประกัน - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  28040 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีค้ำประกัน - ทนายนิธิพล

                    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                   มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

                   อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2543
                   ผู้ร้องยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยระบุว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้ยื่นฎีกา แต่เมื่ออ่านฎีกาทั้งฉบับ รวมทั้งผู้ลงชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทั้งทนายจำเลยที่ 1 และทนายผู้ร้องในขณะเดียวกันก็พออนุโลมได้ว่าเป็นฎีกาของผู้ร้อง
ข้อความตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า "ข้าพเจ้า อ. ผู้ค้ำประกันขอทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อศาลนี้ว่า ถ้าจำเลยในคดีนี้แพ้คดีโจทก์ และคดีถึงที่สุด โดยจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระให้ตามคำพิพากษาเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด ข้าพเจ้ายอมให้บังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่ข้าพเจ้าได้นำมาวางไว้เป็นประกันต่อศาลนี้" ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยฎีกา แต่ศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ร้องยังต้องรับผิดตามข้อความที่ระบุในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอยู่ ความรับผิดของผู้ร้องจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลใดศาลหนึ่งพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ และสิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับคดีแก่จำเลยและผู้ร้องซึ่งต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาล ย่อมเป็นไปตามจำนวนหนี้ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นชั้นที่สุด
ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยไว้ต่อศาลซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐเพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษา มิใช่ผู้ร้องทำสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคล จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค้ำประกันมาปรับใช้แก่กรณีของผู้ร้องโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9742/2539                  

                  สัญญาค้ำประกันต้องการเพียงหลักฐาน เป็นหนังสือที่ผู้ค้ำประกันลงชื่อฝ่ายเดียวก็ใช้บังคับได้ เจ้าหนี้หรือโจทก์หาจำต้องลงชื่อด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์เป็นหนังสือและลงลายมือชื่อไว้แล้วจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์หาจำต้องลงลายมือชื่อแต่อย่างใดไม่แม้ผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์จะไม่มีอำนาจ ซึ่งถือเสมือนว่าโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน แต่สัญญาก็มิเสียไปยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2528

                  ผู้ค้ำประกันถูกธนาคารเจ้าหนี้หักบัญชีเงินฝากประจำใช้หนี้แทนลูกหนี้ ทำให้ผู้ค้ำประกันสูญเสียเงินต้นและดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับตามบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่วันที่ธนาคารเจ้าหนี้หักบัญชี ผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อการสูญเสียดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2540

                  ตามหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยผู้กู้ได้กู้ยืมเงินไปจาก ท.โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีข้อตกลงว่า จำเลยผู้กู้ยอมรับผิดในค่าพาหนะและค่าเสียหายต่าง ๆซึ่งผู้ให้กู้ต้องเสียไปในการทวงถาม ฟ้องร้อง จำเลยยอมใช้ให้ตามที่เสียหายจนครบถ้วน ต่อมา ท.นำสัญญากู้ฉบับนี้ไปฟ้องจำเลยและโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินตามคำพิพากษา 89,220 บาท และค่าใช้จ่ายอย่างอื่น 2,080 บาท ให้ ท.แม้เงินส่วนนี้ ท.จะมิได้เรียกร้องไว้ในขณะฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน2,080 บาท ให้ ท.ไปจริง จึงรวมเป็นต้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระให้ ท.ไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 91,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 693
 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1956/2537

                   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกัน ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ตามสัญญาค้ำประกันมีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องยอมผูกพันเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด แต่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากลูกหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ 1,192,963.20 บาท คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องจึงยังไม่ต้องรับผิด ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย โดยได้นำสัญญาค้ำประกันของผู้ร้องมาวางต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องยอมเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อคดีถึงที่สุด ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ และให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ ต่อมาลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้เป็นเงิน 37,116.30 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับเงินไว้แล้วมีคำสั่งว่า ลูกหนี้ผิดเงื่อนไขการประนอมหนี้ตามคำสั่งศาล ให้เรียกผู้ค้ำประกัน (ผู้ร้อง) ชำระหนี้แทน ลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าลูกหนี้ยังมิได้ผิดเงื่อนไขการประนอมหนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของลูกหนี้ ลูกหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดแล้ว ที่ผู้ร้องอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุดนั้นเป็นการที่ลูกหนี้ยื่นอุทธรณ์คำขอชำระหนี้รายที่ 1คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และคดีดังกล่าวนั้นเป็นคนละส่วนกับคำขอประนอมหนี้และสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นลูกหนี้จึงต้องปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ คือจะต้องชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ข้อ 1 ในทันที และข้อ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ โดยไม่จำต้องรอให้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ถึงที่สุดก่อน ขอให้ยกคำร้อง
                    ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
                    ผู้ร้องอุทธรณ์
                    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
                    ผู้ร้องฎีกา
                    ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย โดยยอมชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 130(1) ถึง (7) โดยเต็มจำนวน และทันที เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ และยอมชำระหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วเต็มจำนวน โดยชำระครั้งเดียวภายใน 15 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ และนำสัญญาค้ำประกันของผู้ร้องที่ ค.ป.982/29 มาวางต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และให้ยกเลิกการล้มละลาย ลูกหนี้ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายตามคำขอประนอมหนี้ แต่ไม่นำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ อ้างว่าศาลยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งว่าลูกหนี้ผิดเงื่อนไขในการประนอมหนี้ และเรียกให้ผู้ร้องชำระหนี้แทน ลูกหนี้ยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีถึงที่สุดลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 2 ส่วนหนี้ตามคำขอประนอมหนี้สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 1ลูกหนี้และผู้ร้องไม่ยอมชำระ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้ร้องชำระตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ผู้ร้อง ปัญหาที่ว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่ ค.ป.982/29 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่าผู้ร้องจะยอมรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ และคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น อันเป็นที่เห็นเจตนาของผู้ร้องว่าจะยอมรับผิดชำระหนี้ทันที เมื่อมีคำสั่งศาลถึงที่สุดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ยังไม่ถึงที่สุด คือยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์อาจยืน ยก แก้ หรือกลับเสียซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ได้ อันยังฟังเป็นที่แน่นอนและถึงที่สุดแล้วไม่ได้ผู้ร้องจึงยังไม่ต้องรับผิด ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้ซึ่งผู้ร้องสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อยังไม่ต้องชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา694 กรณีจึงยังไม่มีการผิดนัดอันจะบังคับผู้ร้องให้ต้องรับผิดได้พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำบังคับและคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5241/2538

                      ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 696 วรรคหนึ่งผู้ค้ำประกันจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ก็ต่อเมื่อได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปโดยมิได้บอกลูกหนี้และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ซ้ำอีกเพียงกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ป. ชำระหนี้จำนวน 390,000 บาท ให้แก่บริษัท ธ. เจ้าหนี้ของ ป. ไปแล้ว คงเหลือยังไม่ได้ชำระอยู่อีกจำนวน 43,441.43 บาท หนี้จำนวนที่ยังไม่ได้ชำระนี้ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ป. ซึ่งถึงแก่กรรมในเวลาต่อมาถูกฟ้องและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ให้แก่ บริษัท ธ. โดยไม่ได้ซ้ำกับยอดหนี้ส่วนที่โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บอกแก่จำเลยว่าโจทก์ ได้ชำระหนี้แทน ป. ให้จำเลยทราบก็ตามก็ชอบที่จะรับช่วงสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเงินจำนวน 390,000 บาทเอาแก่จำเลยได้ สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของป. เกิดจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ที่ ป.เจ้ามรดกมีอยู่ต่อบริษัท ธ. ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ไปอันเป็นเวลาหลังจากที่เจ้ามรดกตาย เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเรื่องอายุความแห่งการรับช่วงสิทธิไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คืออายุความสิบปี จะนำอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดก มาใช้ไม่ได้

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2551

                       การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5 ระบุว่า "การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป... และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใดๆ ไป เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใดๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้" อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2515

                     สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 เป็นสิทธิที่ให้อำนาจแก่เจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิ โฉนดเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ ลูกหนี้มอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้จึงไม่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิใดๆ ในตัวทรัพย์คือที่ดินตามโฉนดนั้น การที่เจ้าหนี้คืนโฉนดให้แก่ลูกหนี้ไป จึงไม่เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดไปได้ (อ้างฎีกาที่ 631/2474) การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ในฐานที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้แพ้คดีแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 นั้น จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ทวงถามก่อนฟ้อง ขึ้นเป็นข้อยกเว้นความรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้จะต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 684 หาได้ไม่

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2517
                    เมื่อห้องแถวซึ่งเป็นวัตถุแห่งการเช่าถูกไฟไหม้หมดสิ้นสัญญาเช่าย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567
ทรัพย์สินที่เช่าได้สูญหายไปหมดสิ้นเพราะถูกไฟไหม้โดยมิใช่ความผิดของโจทก์ผู้เช่า และโจทก์ยังใช้ทรัพย์สินที่เช่าไม่ครบถ้วนตามอายุการเช่า เมื่อสัญญาเช่ามิได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าบางส่วนคืนจากผู้ให้เช่าในกรณีที่ทรัพย์สินที่ให้เช่าได้สูญหายไปเพราะเหตุใด ๆ แล้วโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเช่าห้องแถวที่ได้ชำระให้แก่จำเลยผู้ให้เช่าไปแล้วนั้น คืนตามส่วนถัวของระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2517) เงินค่าใช้จ่ายในการทวงถามของทนายความซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปแล้วนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนนี้

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557

                       ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 9 ทำไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญารถร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายอยู่ในเล่มเดียวกับหนังสือสัญญารถร่วม มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 9 ยอมรับผิดต่อโจทก์กรณีผู้ตายทำสัญญารถร่วมไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดเวลาของสัญญารถร่วมระบุไว้ในข้อ 9 ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2526 โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดแล้วผู้ตายไปต่อสัญญารถร่วมในปีต่อมา หรือหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 1 ไปต่อสัญญารถร่วม จำเลยที่ 9 ได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการต่อสัญญารถร่วมให้ไว้แก่โจทก์อีก หรือยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้มีผลต่อไป อีกทั้งในหนังสือสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความระบุว่าหากมีการต่อสัญญารถร่วมให้ถือว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 9 มีผลต่อไปด้วย ซึ่งสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 9 ย่อมสิ้นไปเมื่อสัญญารถร่วมครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เมื่อเหตุรถคันพิพาทชนกับรถคันอื่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2513

                    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 ที่ให้สิทธิผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้เรียกร้องเอาชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อนได้นั้น มิได้หมายความว่าถ้าเจ้าหนี้ไม่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนแล้วจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะเจ้าหนี้มีสิทธิจะเรียกร้องหรือฟ้องผู้ค้ำประกันฝ่ายเดียวให้รับผิดเมื่อลูกหนี้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686ฉะนั้น ถึงแม้จำเลยผู้ค้ำประกันจะได้ขอให้โจทก์เรียกร้องเอาชำระหนี้จากลูกหนี้ก่อนแล้ว โจทก์ไม่ฟ้องเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ปล่อยเวลาให้ล่วงมาถึง 6 ปีจึงฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยจะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเอาจากจำเลยไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ก่อนนั้นผู้ค้ำประกันต้องพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 689 เมื่อจำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ จำเลยก็ไม่อาจอ้างประโยชน์ตามมาตรา 689 นี้ได้
ทรัพย์ที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันจะต้องเป็นทรัพย์ของลูกหนี้เมื่อไม่ใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่มีสิทธิตามมาตรา 690ที่จะยกขึ้นใช้ยันโจทก์
สัญญาประกันค่าเสียหาย มีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2549

                       ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน มีผลเท่ากับว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจะใช้ได้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบ ฉะนั้น โจทก์จึงต้องดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงจะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 689
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเงินบำนาญของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มายังเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 และโจทก์ได้รับเงินบางส่วนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้และการบังคับชำระหนี้ไม่เป็นการยาก แม้จะเป็นการชำระหนี้เพียงบางส่วนแต่ก็ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่อาจบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป โจทก์จึงต้องบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19/2560

                       คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้