คดีความผิดต่อร่างกาย - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  236428 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีความผิดต่อร่างกาย - ทนายนิธิพล

                       ตามประมวลกฎหมายอาญา

                       มาตรา 295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                      มาตรา 297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

                       อันตรายสาหัสนั้น คือ

                      (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

                      (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

                      (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด

                      (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว

                      (5) แท้งลูก

                      (6) จิตพิการอย่างติดตัว

                      (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

                      (8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

                   องค์ประกอบความผิด

                     1.ผู้ใด

                     2.ทำร้าย

                     3.ผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

                     4.เจตนา

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

 

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2529
 
             ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา297เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา295ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตัวการที่ร่วมทำร้ายผู้อื่นแม้จะไม่มีเจตนาให้ผู้นั้นได้รับอันตรายสาหัสหรือมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดผลขึ้นก็ต้องรับผิดในผลนั้นด้วยในระหว่างที่จำเลยทั้งสามรุมชกต่อยผู้เสียหายจำเลยที่1ใช้มีดคัดเตอร์กรีดใบหน้าผู้เสียหายเป็นแผลเสียโฉมติดตัวจำเลยที่2และที่3ต้องมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา297(4)ด้วยแต่ศาลลงโทษน้อยกว่าจำเลยที่1ผู้เป็นต้นเหตุ. 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2490

             จำเลยที่2 ถือมีดวิ่งไล่แทงผู้เสียหายซึ้งอยู่ในระหว่าง 1วา แต่ผู้เสียหายโดดหนีและวิ่งขึ้นเรือนได้ทันจึงแทงไม่ได้สมความตั้งใจเป็นความผิดฐานพยายามตามมาตรา295

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2548         

            ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 295 แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องมาด้วยว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และได้ความว่าผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะร่วมกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 แม้คดีนี้จะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7135/2547

                  เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน และเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ การที่ผู้เสียหายถูกจำเลยรัดคอด้วยมือซ้าย ผู้เสียหายจึงดิ้นต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีโอกาสเลือกแทง แต่แทงไปตามโอกาสที่จะอำนวยและไม่ได้ใช้กำลังแทงรุนแรงนัก ทั้งเมื่อจะแทงอีก ผู้เสียหายปัดมือ จำเลยจึงเปลี่ยนเป็นใช้ด้ามมีดกระแทกศีรษะผู้เสียหายแทน แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการแทงซ้ำ บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับมีบาดแผลบวมช้ำฉีกขาดกลางศีรษะและบาดแผลฉีกขาดหลังมือซ้ายตัดเอ็นนิ้วนางและนิ้วก้อยขาด ส่วนบาดแผลที่บริเวณหน้าอกด้านขวาระดับซี่โครงที่ 6 ไม่ปรากฏขนาดของบาดแผล ไม่ทะลุเข้าไปในช่องอก แสดงว่าจำเลยไม่ได้แทงอย่างแรง กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันก็ตาม แต่ตามคำฟ้องก็กล่าวว่าผู้เสียหายมีบาดแผลตามสำเนารายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องได้ระบุความเห็นว่ารักษาประมาณ 45 วันหาย และทางพิจารณาข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม ทั้งการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น รวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 297 ด้วย และเป็นความผิดได้ในตัวเอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2508

                   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันกระทำความผิด ชกต่อย เตะใช้เหล็กท่อนเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายนายสงวนได้รับอันตรายสาหัสโดยหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว ขอให้ลงโทษตามมาตรา 297, 83  จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ  นายสงวนผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันกระทำผิดตามมาตรา 297 จำคุกนายชอ นายสนั่น นายชำนาญ จำเลยคนละ 6 เดือนนายเย็นจำเลย 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้ง 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1, 2 ผิดมาตรา 295 จำคุกจำเลยที่ 1,2 คนละ 2 เดือน จำเลยที่ 3 หนึ่งปี ยกฟ้องจำเลยที่ 4 โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น    ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงยุติว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลบริเวณเหนือคิ้วขวา 2 แผล แผลใหญ่ยาว 1 นิ้ว ลึกถึงกระโหลก กระโหลกศีรษะยุบและทะลุถึงเยื่อหุ้มสมอง นายแพทย์มั่นสิทธิเบิกความว่า ผลของการเอกซเรย์ปรากฏว่ากระดูกหน้าผากของกระโหลกศีรษะยุบเข้าไป เมื่อหายแล้วหน้าจะเสียโฉม เพราะกระโหลกศีรษะบุบยุบเข้าไป ซึ่งเป็นการแสดงถึงลักษณะและสภาพของบาดแผลให้ศาลวินิจฉัยได้แล้วว่า บาดแผลนี้จะทำให้ผู้เสียหายถึงต้องหน้าเสียโฉมติดตัว เพราะกระโหลกศีรษะตอนหน้าผากจะเป็นรอยบุบยุบเข้าไปคดีเป็นอันฟังได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297และเห็นว่า การที่จำเลยทั้ง 4 วิ่งเข้าไปที่ผู้เสียหายพร้อมกันแล้วจำเลยที่ 4ชูปืนพร้อมกับร้องห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปช่วยและในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ก็เข้ากลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เช่นนี้ ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำผิดด้วยจึงเป็นตัวการ พิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2547

                     ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้นแม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยมิได้มีเจตนาทำให้แท้งลูก เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 297(5) ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้เสียหายนั่งอยู่บนแคร่จำเลยเดินเข้าไปตบผู้เสียหายจนตกจากแคร่ แล้วจิกผมให้ศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับเสา เมื่อมีผู้เข้าห้าม จำเลยก็ถีบที่ท้องของผู้เสียหาย อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2553

                      จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไป ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ชกต่อยกับผู้เสียหาย โดยไม่ได้เลือกว่าจะฟันผู้เสียหายบริเวณใด หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายมาก่อน จำเลยสามารถวิ่งไล่ตามไปใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายได้อีกโดยไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดมาขัดขวางไม่ให้จำเลยทำเช่นนั้น ประกอบกับพวกของจำเลยก็มีหลายคนสามารถวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปได้นอกจากนี้ขณะที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายเพียงแต่ยกแขนขึ้นบังเท่านั้นไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกข้างขวายาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้มีดฟันอย่างรุนแรง อีกทั้งจำเลยและผู้เสียหายไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดจะต้องเอาชีวิต พฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะทำร้ายเท่านั้น

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2770/2544 

                   จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือตบหน้าเพียง 2 ครั้งส่วนการที่กระดูกต้นแขนซ้ายของผู้เสียหายหักอาจเกิดจากผู้เสียหายวิ่งล้มลง มิได้เกิดจากจำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวมากน้อยเพียงใด จึงฟังได้เพียงว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 และการที่ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย 2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3580/2545

                  จำเลยเข้ามาจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นพร้อมกับพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามา จำเลยก็ปล่อยมือของโจทก์ โดยใช้เวลาจับมือของโจทก์ไว้ไม่ถึงหนึ่งนาที เจตนาอันแท้จริงของจำเลยในการจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไว้โดยไม่มีสิทธิจะรับเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะทำร้ายโจทก์ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้