คดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  32777 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร - ทนายนิธิพล

               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564  

               มาตรา 1564  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้


                               คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ

                       บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร

 

                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2551

                  ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

               หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพียงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจึงไม่ชอบ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งดังกล่าว

                การฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2506

                การที่บิดามารดาหย่ากันเอง และตกลงให้บิดาเป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์นั้นตามปกติบิดาย่อมเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามควรแก่กรณี หากบิดาละเลยหรือประพฤติมิชอบให้เห็นว่าไม่สมควรแก่หน้าที่จนบุตรนั้นหนีมาอยู่กับมารดาเป็นเหตุให้มารดาต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูไปก็ดีมารดาก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินนั้นจากบิดาได้แต่มารดาก็อาจร้องขอต่อศาลให้ถอนบิดาจากการเป็นผู้ปกครองเสียได้โดยขอตั้งผู้ปกครองใหม่แล้วใช้สิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533          

                โจทก์ผู้มีอายุ 16 ปีเศษ ซึ่งฟ้องขอให้จำเลยผู้เป็นบิดารับรองโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กที่มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และการฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคแรก.

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548

               บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522 การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

                                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13723/2557

                                คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้ จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

                    หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพียงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจึงไม่ชอบ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งดังกล่าว

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2556

                     การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงในสำเนารายงานประจำวัน ระบุว่า โจทก์จะไม่เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยอีกนั้น ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการสละสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 ข้อตกลงในส่วนนี้จึงใช้บังคับมิได้ จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ จึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556

                   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้..." คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า "จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู" แต่มีคำว่า "ค่าขาดรายได้" เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2552

                     คดีเดิมโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งหมดโดยอาศัยสัญญาตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า อ้างเหตุว่าจำเลยผิดนัดไม่ผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ครบถ้วน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบางส่วนเฉพาะงวดหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อหนี้ส่วนที่เหลือถึงกำหนดชำระจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาดังกล่าวอีกจึงเกิดมูลหนี้ใหม่ แม้จะโดยสาเหตุจำเลยผิดนัดเหมือนกันกับในคดีเดิม แต่ก็เป็นเพราะจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาในยอดหนี้ส่วนที่เหลือ จึงเป็นหนี้คนละจำนวนกัน เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีเดิมจำเลยยังมิได้ผิดนัดในยอดหนี้คงค้างที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้เพราะเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวและศาลชั้นต้นในคดีเดิมยังมิได้วินิจฉัยประเด็นหรือเนื้อหาแห่งคดีในส่วนยอดหนี้ดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีเดิม การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

                   วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่
 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

                   วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2552

                 ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์..." บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธมิได้ ส่วนการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1598/38 ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีเมื่อศาลเชื่อว่าโจทก์และจำเลยก็ยังมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และแบ่งความรับผิดให้จำเลยชำระค่าอุปการระเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 15,000 บาท เท่ากับคนละ 7,500 บาทต่อเดือนนั้นจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ส่วนข้ออ้างว่าจำเลยยกส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกนั้น กรณีแบ่งสินสมรสเป็นคนละส่วนกับหน้าที่ของจำเลยในฐานะบิดาที่จำต้องอปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดได้

 

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6058/2551

                จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอดจนถึงขณะฟ้องแย้งเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท และต่อไปเป็นเวลา 10 ปี ปีละ 25,000 บาท เป็นเงิน 2,500,000 บาท รวม 5,000,000 บาท จำเลยประสงค์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรปีละ 250,000 บาท การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องแย้งให้ถูกต้อง เนื่องจากพิมพ์ตัวเลขตกไป จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ทั้งจำเลยไม่ได้ขอแก้ไขทุนทรัพย์ โดยยังคงติดใจเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู 2,000,000 บาท และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อหาตามฟ้องแย้งเดิมตามมาตรา 179 จึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 181 ที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขฟ้องแย้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น

 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8231/2549

                 ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามบันทึกข้อตกลงเป็นเงิน 11,000 บาท และจ่ายจากเงินบำนาญครึ่งหนึ่ง หรือให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันรับเงินบำเหน็จ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เต็มคำขอโดยตกลงว่า จำเลยยินยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ 11,000 บาท และโจทก์จำเลยไม่ติดใจว่ากล่าวคดีสืบต่อไป ย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยเป็นเงิน 11,000 บาท โดยไม่ติดใจที่จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกต่อไป ดังนี้ ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้ในคดีก่อนโจทก์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยอาศัยบันทึกข้อตกลงแต่มูลเหตุของการทำบันทึกข้อตกลงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์จำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1461 วรรคสอง นั่นเอง แม้ในคดีก่อนโจทก์จะไม่อ้างบันทึกข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อยู่แล้ว ประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นประเด็นและเหตุเดียวกัน คือ การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546

               โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ
 


 
 

 ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้