Last updated: 27 ต.ค. 2564 | 32549 จำนวนผู้เข้าชม |
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง
ลักษณะทรัพย์ที่เป็นของหมั้น
1.ต้องเป็นทรัพย์สิน
2.ต้องเป็นฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง
3.ต้องให้ไว้ในขณะที่ทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้
4.ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องให้ไว้ก่อนสมรส
การผิดสัญญาหมั้น
เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
ในกรณีที่ชายบอกเลิกสัญญา
ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย
ในกรณีที่ฝ่ายหญิงบอกเลิกสัญญา
ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย
ค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น
ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
เรียกค่าทดแทนจากชายอื่นและหญิงอื่น
ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้น
ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2532
ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่มีการหมั้น หากฝ่ายใดผิดสัญญาจะสมรส ให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนอย่างเช่นกรณีที่มีการหมั้น ฉะนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจะสมรสหรือจดทะเบียนสมรสโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549
การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543
พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรส แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไป โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับ น. ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายเป็นอันยุติ การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า200,000 บาท จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2535
โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เพียงแต่ประกอบพิธีแต่งงานเพื่ออยู่กินกันตามประเพณีโดยไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเงินทั้งหลายที่ฝ่ายโจทก์มอบให้ฝ่ายหญิง จึงไม่ใช่ของหมั้นและสินสอดตามกฎหมาย แม้จะมีการหมั้นกันตามประเพณีและมอบทรัพย์สินให้แก่กันในขณะจำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกคืนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2524
การที่โจทก์ให้เงิน 20,000 บาท ซึ่งเรียกว่าสินสอดและให้แหวนเพชรกับสร้อยทองคำซึ่งเรียกว่าของหมั้นแก่จำเลยนั้นโจทก์หาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นไม่เพราะสินสอดหรือของหมั้นนั้นต้องเป็นการให้โดยมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ประกอบพิธีสมรสตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เงินและทรัพย์นั้น จึงหาได้ให้ในฐานะเป็นสินสอดและของหมั้นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2540
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์และจำเลยที่1ได้ทำพิธีหมั้นกันโดยฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้มอบของหมั้นเป็นแหวนพลอยจำนวน 1 วงในการหมั้นจำเลยที่1สัญญาว่าหลังจากหมั้นแล้วจะทำพิธีแต่งงานอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีกันต่อไปต่อมาจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นโดยไปสมรสกับจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มิได้มีการหมั้นกันและจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาหมั้นแสดงว่าจำเลยที่1เข้าใจฟ้องโจทก์และต่อสู้คดีได้ถูกต้องทั้งสาระสำคัญของคำฟ้องก็อยู่ที่ว่าได้มีการทำสัญญาหมั้นกันและมีการผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ส่วนข้อที่ว่าโจทก์กับจำเลยที่1มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเพื่อแสดงให้เห็นว่าการหมั้นนั้นจะมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้องด้วยฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2558
การสมรส เป็นพฤติการณ์ที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ความสมัครใจและความรักของทั้งสองฝ่ายที่จะอยู่ร่วมกันเป็นเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีวัฒนธรรมประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ข้อที่สำคัญ คือ กฎหมายไม่สามารถบังคับให้ชายหญิงอยู่ด้วยกันหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสได้ กฎหมายลักษณะครอบครัวจึงถูกบัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้บังคับและแก้ปัญหาอันเกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกันของชายหญิงที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาโดยทั่วไป จะนำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับหาได้ไม่ มิฉะนั้นศาลต้องบังคับให้คู่สัญญาจดทะเบียนสมรสหรืออยู่กินฉันสามีภริยากับอีกฝ่ายหนึ่งตามวัตถุประสงค์แห่งหนี้อันเป็นมูลหนี้เดิมเสียก่อนและจะทำให้กฎหมายลักษณะครอบครัวไม่มีผลใช้บังคับด้วย คดีนี้โจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ได้มอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ยอมสมรส คู่สัญญาของการหมั้นหมายถึงโจทก์และจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 สัญญาหมั้นจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์มอบทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถือเป็นการมอบสินสอดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามกฎหมาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1437 แต่ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเสน่หา ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีก ก็หาจะบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนทรัพย์สินแก่โจทก์ฐานจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นได้ไม่ ปัญหาว่าจะใช้บทบัญญัติกฎหมายใดบังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2552
การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกันทั้งๆ ที่โจทก์กับจำเลยได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมายและโจทก์กับจำเลยก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง ทั้งโจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น เพราะต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัด แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลย เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6385/2551
การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออด ซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็น จึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังไปบ้านโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ถือเอาเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโกรธเคืองโจทก์ที่ 2 การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) และสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วยแต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2550
โจทก์ที่ 1 อ้างว่าการผิดสัญญาหมั้นของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 อ้างว่าจำเลยทั้งสามไปสู่ขอโจทก์ที่ 1 โดยตกลงให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นและไม่ชำระค่าสินสอด จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินสอดจำนวนดังกล่าว แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่างเกิดจากการผิดสัญญาหมั้น แต่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (1) ส่วนโจทก์ที่ 2 เรียกร้องให้ชำระค่าสินสอดแก่โจทก์ที่ 2 ตามมาตรา 1437 วรรคสาม จึงเป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามต่อโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปี 2543 แต่โจทก์ทั้งสองเพิ่งจะยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2544 พ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนหก หรือเดือนมิถุนายน 2544 เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2549
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ปัญหาในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหานี้ให้เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 162,500 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549
การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้ ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2548
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนของหมั้น สินสอด และชดใช้ค่าเสียหายเพราะผิดสัญญาหมั้นแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 169,500 บาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2548
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหมั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 12 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรส่งสำนวนคดีนี้ไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวต่อไป เมื่อประธานศาลฎีกาได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวแล้ว หากคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 15 แต่ถ้าคดีอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543
พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธีสมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรส แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไป โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับ น. ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายเป็นอันยุติ การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า200,000 บาท จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2542
ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหมั้น และแต่งงานตามประเพณีแล้ว ได้อยู่กินร่วมหลับนอนกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 นานถึง 8 เดือนโดยโจทก์มิได้ประกอบอาชีพใด เอาแต่เที่ยวเตร่และเล่นการพนัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้รังเกียจในตัวโจทก์นอกจาก ความประพฤติ การที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจอยู่กิน ด้วยกันเป็นเวลานาน โดยมิได้ไปจดทะเบียนสมรส จึงเกิด จากการละเลยของทั้งสองฝ่ายที่มิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรส เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณี เท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรส เกิดจากความผิดของฝ่ายใด แม้ต่อมามีการทำบันทึกตกลงกัน ว่าทั้งสองฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่เมื่อโจทก์ยังมิได้ปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 2 ตาม ข้อตกลงการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส กับโจทก์ จึงยังไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2540
โจทก์ตกลงแต่งานกับจำเลยที่ 3 โดยวิธีผูกข้อมือแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่3มิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457 ดังนั้นทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับจำเลยที่ 3 และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่2 บิดามารดาของจำเลยที่3เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่3ยอมสมรสตามมาตรา1437โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน การที่จำเลยที่3ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 เพราะการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่3จะทำได้ต่อเมื่อจำเลยที่3ยินยอมเป็นสามีภริยากับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457 การที่จำเลยที่3ไม่ยินยอมหลับนอนกับโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญาหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439 และมาตรา 1440
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9342/2538
อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ไม่ถูกต้อง เพราะว่าไม่มีการหมั้น อีกทั้งไม่มีเหตุที่ต้องคืนสินสอดให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ต้องคืนของหมั้นและสินสอดเป็นเงินรวม 41,250 บาท แก่โจทก์เป็นการ โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่ามีการหมั้น และ จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอด แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท อีกทั้งมิได้เป็นคดีที่ เกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145