คดีจำนอง จำนำ - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  25361 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีจำนอง จำนำ - ทนายนิธิพล

                           

                                                        คดีจำนอง 

                                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538

                            ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้น เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แม้คำฟ้องขอไถ่ถอนจำนองจะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของโจทก์ และโจทก์สละสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยแล้วเป็นการโต้เถียงสิทธิครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นการรวมประเด็นที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันหรือไม่ตามคำให้การของจำเลยด้วย คดีไม่มีทุนทรัพย์จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2538

                      การที่จำเลยมอบโฉนดที่ดินพร้อมด้วยใบมอบอำนาจและเอกสารอื่นให้แก่โจทก์เพื่อจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ในการที่จำเลยนำเช็คไปขายลดแก่โจทก์ถึงแม้จะมีข้อกำหนดให้นำไปจดทะเบียนจำนองได้หลังจากเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาจะเอาทรัพย์จำนองเป็นประกันนั้นเองเมื่อไม่ได้มีการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามกฎหมายสัญญาจำนองจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา115เดิมและมาตรา714ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ3ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดให้มีสัญญาจะจำนองได้เมื่อสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะและสัญญาจะจำนองมีขึ้นไม่ได้ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่อาจอ้างอิงสัญญาดังกล่าวและไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ขายลดเช็ค
 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2512

                      จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเองเพื่อประกันการชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์โดยมอบโฉนดที่ดินและใบมอบฉันทะซึ่งลงชื่อแล้วให้โจทก์ไว้เพื่อจดทะเบียนจำนอง เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนจำนองให้ถูกต้องตามกฎหมายสัญญาจำนองย่อมตกเป็นโมฆะ
การรับสภาพหนี้นั้น มีผลเพียงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหาเป็นการก่อตั้งสิทธิฟ้องร้องขึ้นใหม่แต่อย่างใดไม่ หากหนี้ซึ่งจะต้องรับผิดมิได้เกิดมีขึ้นอยู่แต่เดิม
เมื่อโจทก์อุทธรณ์ฎีกาเฉพาะในประเด็นที่ว่า หนังสือซึ่งจำเลยที่ 2 มีถึงโจทก์เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ โดยมิได้กล่าวอ้างเลยว่าหนังสือนั้นอาจถือเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันได้ ย่อมไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัย

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545
 

                         การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล. และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกัน แล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องเป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายหาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2549

                         โจทก์รับจ้างทำของบนที่ดินของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 (2) แต่ก่อนลงมือทำการงานจ้าง โจทก์ไม่ได้ทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันโจทก์มีอยู่ย่อมสิ้นผลไปตามมาตรา 286 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพทย์ในมูลจ้างทำของขึ้นบนที่ดินของจำเลยที่ 1 และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551

                        ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง คดีในชั้นฎีกาไม่มีประเด็นโต้เถียงเรื่องความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548

                        เลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2539

                         การแปลความหมายแห่งสัญญาจะต้องดูข้อความตามสัญญาทั้งฉบับและเจตนาของคู่สัญญาที่ตกลงมุ่งทำสัญญาต่อกันประกอบด้วยไม่ใช่ดูแต่เจตนาของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันระบุจำนวนเงินต้นจำนองไว้แจ้งชัดว่า100,000บาทความผูกพันตามสัญญาที่จำเลยที่2มีต่อโจทก์จึงมีตามจำนวนเงินต้น100,000บาทดังที่ระบุไว้แม้ข้อสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจะมีข้อความว่าผู้จำนองยินยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ทั้งหมดให้กับผู้รับจำนองโดยสิ้นเชิงก็หาใช่จะแปลความสัญญาว่าจำเลยที่2ยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในอันที่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวนให้โจทก์จนครบถ้วนโดยสิ้นเชิงเป็นอีกโสดหนึ่งต่างหากด้วยไม่การที่จำเลยที่2ระบุจำนวนเงินต้น100,000บาทในสัญญาดังกล่าวเป็นเจตนาของจำเลยที่2ที่เข้าทำสัญญากับโจทก์จำกัดความรับผิดตามวงเงินที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองหาใช่เป็นการระบุเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของมาตรา708แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างเดียวไม่

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510/2542

                           จำเลยยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่จำเลยมิได้บรรยายว่าสภาพแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ข้อใดที่เคลือบคลุมไม่ชัดแจ้งอย่างไรคำให้การของจำเลยจึงแสดงเหตุโดยไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดประเด็นว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ดังนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นโดยชอบจึงต้องห้าม มิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ การที่จำเลยผู้จำนองทำหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 ย่อมมีผลเพียง ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวนั้นไม่สมบูรณ์ โดยโจทก์จะบังคับหรือ ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เท่านั้น แต่หามีผล ทำให้นิติกรรมการจดทะเบียนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลย ในส่วนอื่นที่กระทำโดยชอบต้องเสียไปไม่ สัญญาจำนองระหว่าง โจทก์กับจำเลยจึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยยังมิได้ ชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 531/2513

                          การจำนองทรัพย์สินหลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิได้ระบุอันดับไว้ แต่ระบุจำนวนเงินจำนองไว้เฉพาะทรัพย์สินแต่ละสิ่ง หากผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันเช่นนี้ ต้องแบ่งภาระแห่งหนี้นั้นกระจายไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้นๆ ซึ่งผลก็คือ หากขายทอดตลาดทรัพย์สิ่งใดได้เงินเกินกว่าจำนวนที่ระบุในสัญญาจำนอง ก็ต้องคืนส่วนที่เกินให้ผู้จำนองไป และทรัพย์สิ่งใดขายได้ไม่คุ้มจำนวนที่ระบุในสัญญาจำนองส่วนที่ขาดก็เป็นอันพับไป จะเอาหนี้จำนองแต่ละรายมารวมกันตั้งเป็นเกณฑ์คำนวณมิได้

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2512

                         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 713 เป็นเรื่องผู้จำนองจะชำระหนี้ล้างจำนองเป็นงวดๆ ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องไถ่ถอนจำนองบางส่วน ส่วนมาตรา 717 เป็นเรื่องทรัพย์สินที่จำนองแบ่งออกเป็นหลายส่วน แต่จำนองนี้ก็ยังคงครอบไปถึงทรัพย์หมดทุกส่วน ก. จำนองที่ดินและตึก 5 คูหาไว้กับจำเลยที่ 1 ดังนี้ ทรัพย์ที่จำนองมิได้แบ่งออกเป็นส่วน ที่ดินและตึกที่จำนองเป็นทรัพย์ส่วนเดียวเท่านั้น ผู้รับจำนองมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้จำนองไถ่ถอนจำนองบางส่วนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้รับจำนองกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งทำสัญญาจะซื้อทรัพย์จำนองจากผู้รับจำนองก. เป็นลูกหนี้จำนองจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทวงถามแล้ว ก. ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเป็นต้องขายที่ดินและตึกที่จำนองไว้ ก. จึงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นธุระในการขายโดยกำหนดราคาห้องแต่ละห้องไว้โดยชัดเจน ดังนี้ การมอบหมายมีลักษณะไปในทางที่จะให้จำเลยที่ 1 ควบคุมการซื้อขายทรัพย์จำนอง มากกว่าที่จะให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ ก. ยังไม่ถนัด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง ฟ้อง ก. ผู้จำนองเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในธุรกิจการงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด เมื่อฟ้องแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน อันเป็นสิทธิตามกฎหมายของจำเลย จะว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ตกลงซื้อทรัพย์ที่จำนองหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มิได้กล่าวไว้เลยว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดอย่างไร โจทก์กล่าวในฎีกาลอยๆว่า โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถือว่าโจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2539

                            ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่1ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ขายลดตั๋วเงินจำนวน89,051.47บาทนับแต่วันที่7มิถุนายน2529จนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในเงินต้นดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดในเมื่อจำเลยที่1ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5ต่อปีตามสัญญาค้ำประกันแล้วแต่ไม่ได้กำหนดให้ว่าต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่2ตามภูมิลำเนาที่อยู่ของจำเลยที่2สองครั้งแต่ไม่สามารถส่งได้โจทก์จึงบอกกล่าวการบังคับจำนองโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา728ฉะนั้นค่าประกาศหนังสือพิมพ์จึงถือได้ว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามมาตรา715(3)โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าประกาศหนังสือพิมพ์400บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจากจำเลยที่2

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560

                           โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2560

                        แม้ศาลในคดีแพ่งจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้กับพวกชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินรวม 12 แปลง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาจำนองก็ตาม แต่ตามสารบัญจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวจำนวน 4 แปลง ระบุว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินและเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทถนน สวนหย่อมและบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีบทบัญญัติตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้คงสภาพเดิม รวมทั้งจำกัดการใช้สิทธิในการทำนิติกรรมของผู้จัดสรรที่ดินในลักษณะที่จะก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค และที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะในโครงการจัดสรรที่ดินในอันที่จะได้ใช้บริการจากที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคตามที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้มาตรา 30 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะปลอดจากบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และภาระการจำนอง ดังนั้น การขอรับชำระหนี้เพื่อบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคซึ่งต้องมีการนำที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ และในที่สุดก็ต้องมีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ประมูลได้ การบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวถือว่าเป็นการก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวเจ้าหนี้ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง การบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งกรณีนี้ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคท้าย ที่เป็นการขอบังคับเอากับที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินรวมทั้งรับโอนสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เจ้าหนี้จึงไม่อาจบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวได้
 
                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2560

                            ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2556 คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้อง ล. กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2560

                     ตามหนังสือสัญญายกให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่ปรากฏเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีข้อความปรากฏเฉพาะการที่ พ. มารดาของจำเลยยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือเงื่อนไขให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่ พ. ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ยอมรับว่าถูกต้องสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับการที่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินกับธนาคาร เช่นนี้ สัญญายกที่ดินพิพาทให้ตามฟ้องจึงไม่ใช่สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยที่จะต้องตกเป็นโมฆะ สำหรับที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ 1876 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยรับกันว่า มีการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่ พ. จะถึงแก่ความตายประมาณเกือบ 10 ปี แต่ไม่ปรากฏว่า พ. จะได้ดำเนินการในลักษณะที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น การมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือดำเนินคดี อีกทั้งโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า รู้เรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีการจัดการหรือช่วยเหลือ พ. เพื่อให้จำเลยคืนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ พ. จำเลยให้การและนำสืบยืนยันข้อเท็จจริงตลอดมาว่า จำเลยไม่ได้เคยตกลงกับ พ. ที่จะโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองยังไม่มีน้ำหนักมากถึงขนาดที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก พ.

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2559

                          โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท และนำที่ดินที่แบ่งแยกขายให้แก่นางสาว ก. แต่จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินแล้วจำเลยไม่นำเงินมาให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนโจทก์ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์และขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน บรรพ 3 ลักษณะ 15 ไม่ได้เป็นเรื่องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)


 

                                                                                 จำนำ

                                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ 

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1914/2526

                         จำเลยมอบรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ถือได้ว่าเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 747 ผู้ร้อง จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ไดจากการขายทอดตลาดรถยนต์คันนั้นก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึดรถยนต์คันนั้นมาขายทอดตลาด

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4278/2534

                        ปัญหาว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่มิได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อจำเลยล้มละลายแล้ว โจทก์ยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบนั้นเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ จำเลยกู้เงินโจทก์และทำหนังสือสัญญาจำนำจักรเย็บผ้าแก่โจทก์แต่มิได้มอบจักรเย็บผ้าให้โจทก์ไว้ ถือไม่ได้ว่ามีการจำนำตามป.พ.พ. มาตรา 747 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน.

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2544

                      การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาจำนำตกลงให้ ช. กรรมการของลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำและลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด ซึ่งเครื่องจักรนั้นผู้จำนำสั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้และนำเงินชำระคืนแก่ผู้รับจำนำการจำนำเครื่องจักรจึงเป็นหนทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการทำจำนอง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ต้องการใช้เครื่องจักรนำมาผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำจะมีข้อตกลงว่า แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตามก็เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 769(2) แล้ว สิทธิจำนำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงระงับสิ้นไปผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรตามกฎหมายล้มละลาย
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2519

                          จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยการจำนำนั้นไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่โจทก์ให้ป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถเพื่อไปติดหน้ารถ แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมดังกล่าวไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2554

                        สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืนไม่ใช่เป็นการจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 747 หากแต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้และโจทก์กับพวกให้การต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกชำระหนี้แล้ว และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ไม่

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2516

                        โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับเงิน 3,500 บาท ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยและให้จำเลยมอบปืนที่โจทก์จำนำไว้เป็นประกันคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้ชำระเงินยืมคืนภายในกำหนดรวมทั้งดอกเบี้ยจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์แต่ขอคิดค่าดอกเบี้ยด้วย ดังนี้ ศาลย่อมพิพากษาตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยรับชำระเงิน 3,500บาท รวมทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องรับผิดด้วยได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ดอกเบี้ยก็ตาม

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2527

                        ลูกหนี้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารผู้คัดค้าน โดยจำนำใบฝากเงินประจำเพื่อเป็นประกัน พร้อมกับทำหนังสือยินยอม ให้ผู้คัดค้านมีสิทธิหักเงินฝากประจำตามใบรับฝากนั้นชำระหนี้ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้ ก่อนมีการฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย 9 เดือนเศษ ผู้คัดค้านใช้สิทธิตามหนังสือยินยอมหักเงินตาม ใบรับฝากเงินประจำชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีภายหลังที่ลูกหนี้ ถูกฟ้องล้มละลายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงของลูกหนี้ ซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ตลอดมาถึงวันหักเงินนั่นเอง การที่ลูกหนี้จำนำใบรับฝากเงินประจำ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ มีประกันก็มีเพียงสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันคือใบรับฝาก ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 95 ซึ่งผู้คัดค้านมีแต่เพียง สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ใบรับฝากโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก เพื่อชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านได้ ทั้งเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิแก่ผู้รับจำนำ จัดการแก่ทรัพย์สินที่จำนำเป็นประการอื่น นอกจากบทบัญญัติทั้งหลาย ว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 756. ข้อตกลงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิหักเงินตามใบรับฝากไว้ชำระหนี้ได้ ถือได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการกระทำที่ลูกหนี้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบ เจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะเพิกถอนการใช้สิทธิหักเงินตามใบรับฝาก ที่ได้กระทำไปนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 การขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ตามใบรับฝากดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นกรณีนอกเหนือบทบัญญัติมาตรา 115เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินการเป็นกรณีต่างหากจากคดีนี้

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2532

                      คนร้ายชิงทรัพย์ของโจทก์แล้วเอาไปจำนำที่โรงรับจำนำจำเลยเป็นเงินชิ้นละเกินกว่า 10,000 บาท จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 โจทก์เจ้าของทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่และแม้โจทก์เสียค่าไถ่ไปแล้วโดยสำคัญผิด โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยได้ เพราะการที่จำเลยรับเงินจากโจทก์เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้.
 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2537

                     สิทธิซึ่งมีตราสารหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมาย และเป็นตราสารที่โอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น ไม่ได้หมายความถึงเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งสิทธิทั่ว ๆ ไป สิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อที่ลูกหนี้ (จำเลย) มอบให้เจ้าหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้นั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นสิทธิซึ่งมีตราสาร แม้สิทธิดังกล่าวอาจโอนแก่กันได้ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาเท่านั้น การที่ลูกหนี้มอบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พร้อมทะเบียนรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อแก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ออกให้แก่เจ้าหนี้ จึงไม่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารตามนัยมาตรา 750 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
 
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2525

                        โจทก์มอบแจกันพิพาทให้แก่จำเลยไว้เป็นประกันเงินกู้เข้าลักษณะจำนำตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 โจทก์ได้ชำระหนี้และรับแจกันคืนมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2522 พบว่าแจกันปากแตกบิ่นจึงฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันผู้รับจำนำก่อให้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 พ้น 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินจำนำตาม มาตรา 763(1) คดีขาดอายุความแล้ว

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2513

                         การจำนำเป็นการเอาทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้อาจแบ่งแยกการจำนำกับหนี้ที่เอาทรัพย์เป็นประกันเป็นคนละส่วนได้ เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนี้สามัญโดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 หรือจะบังคับจำนำก็ได้ การจำนำมิได้ผูกพันผู้รับจำนำให้ต้องบังคับจำนำเฉพาะแต่ทางเดียว
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2552

                         เมื่อการบังคับจำนำหุ้นของบริษัท ซ. โดยการขายทอดตลาดซึ่งไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไปและไม่ได้ขายในราคาที่พอสมควร การขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีผลถึงหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นหนี้ประธานที่จำเลยมีความรับผิดต่อโจทก์อยู่ตั้งแต่ก่อนจะมีการขายทอดตลาดแล้ว แม้โจทก์จะมีสิทธิขอบังคับตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำต้องบังคับจำนำเอากับหุ้นก่อนก็ตาม แต่โจทก์ตั้งรูปบรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบังคับจำนำและคิดคำนวณยอดหนี้โดยหักเงินที่ได้จากการบังคับจำนำมาชำระหนี้ ศาลจึงต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการบังคับจำนำ เมื่อวินิจฉัยว่าการบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณในฟ้องไม่ถูกต้อง จึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและหนี้ยังไม่ระงับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา แต่เมื่อยอดหนี้ที่ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยยังไม่ถูกต้อง สมควรที่จะให้มีการคิดคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้องและไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ อุทธรณ์ในปัญหาเพียงว่าจะระบุในคำพิพากษาให้สิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่หรือไม่ ไม่มีข้อพิพาทโต้เถียงเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดโดยตรง ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2496

                           เอาเงินเขาไปแล้วมอบทองรูปพรรณให้ไว้เป็นประกันนั้นแม้การมอบทองรูปพรรณให้ไว้จะเป็นจำนำ ซึ่งอาจบังคับกันได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ดีแต่ถ้าได้บังคับจำนำกันแล้ว ได้เงินไม่พอชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจึงต้องมาฟ้องร้องขอให้บังคับชำระเงินที่ยังขาดอยู่แล้วก็เท่ากับฟ้องร้องให้ชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปนั่นเองถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญแล้วก็จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2496)
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3481/2559

                          ที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท ท. โดยที่โจทก์มิได้มีสิทธิอื่นใดเหนือหลักประกันอันเป็นเครื่องจักร เนื่องจากการจำนำระงับไปแล้ว เพราะทรัพย์จำนำตกอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำซึ่งเป็นผู้แทนผู้จำนำ สาระที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ให้การเกี่ยวกับเหตุผลของการจำนำที่ระงับไปแล้วตั้งแต่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายล้วนเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองสามารถนำสืบพยานหลักฐานได้ตามประเด็นข้อพิพาท เช่นนี้ การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองย่อมไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ตามสัญญาจำนำเครื่องจักรและสัญญารักษาทรัพย์ ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำเครื่องจักรมาจำนำไว้แก่โจทก์โดยตกลงให้ ศ. ซึ่งเป็นพนักงานของลูกหนี้เป็นผู้เก็บรักษาเครื่องจักรที่จำนำไว้ที่โรงงานของลูกหนี้ โดย ศ. จะได้รับค่าตอบแทนการรักษาทรัพย์จำนำเพียงเดือนละ 100 บาท และยังมีข้อตกลงว่า ตลอดเวลาที่ทรัพย์จำนำอยู่ในความครอบครองของผู้รักษาทรัพย์จำนำ แม้ผู้จำนำจะได้ใช้สอยทรัพย์สินที่จำนำ ก็ไม่ถือว่าทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนสู่ความครอบครองของผู้จำนำ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่ให้ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนสู่การครอบครองของผู้จำนำก็ตาม แต่เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เพราะเจตนาอันแท้จริงของสัญญาจำนำดังกล่าวประสงค์ให้ลูกหนี้ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินที่จำนำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่จำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) สิทธิจำนำของโจทก์จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจบังคับจำนำตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 764 ได้

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้