คดีหมิ่นประมาท - ทนายนิธิพล

Last updated: 12 ส.ค. 2565  |  178503 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีหมิ่นประมาท - ทนายนิธิพล

                                                           

           เรื่องการหมิ่นประมาท เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีทั้งส่วนที่เป็นการหมิ่นประมาทแบบธรรมดา ( ม.326 ) และการหมิ่นประมาทด้วยโฆษณา ( ม.328 )

           มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

           มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

           การหมิ่นประมาท มีองค์ประกอบ ดังนี้
           1. ใส่ความ การพูดจาใส่ร้ายผู้อื่น ด้วยลักษณะการยืนยันข้อเท็จจริง ในสิ่งที่เป็นไปได้ หรือสิ่งที่เป็นความจริง 
           2. ผู้อื่น คือ ผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหา
           3. ต่อบุคคลที่สาม

           4. ถ้าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต้องเป็นการประกาศต่อสาธารณะ 

           คำหมิ่นประมาทนั้น หากได้กระทำลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าคนโพสต์จะเป็นผู้ใด หากทำให้คนอื่นเสียหาย โพสต์หรือพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟัง ก็ถือเป็นการใส่ความผู้อื่น ถึงบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการกระทำหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 328 

            ข้อสำคัญในเรื่องการประจานทางโซเชียล ต้องมีการโพสข้อความในลักษณะที่เป็นการกล่าวหา และต้องมีการระบุตัวตนของผู้ถูกกล่าวหาอย่างชัดเจนด้วย ถึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 328 เพราะการที่โพสทำให้ผู้อื่นเสียหายนั้นอาจเป็นได้ทั้งเรื่องหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วยการโฆษณาก็ได้ครับ ซึ่งมีโทษหนักเบาที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยดูหมิ่นด้วยการโฆษณาจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท เท่านั้น ก่อนจะไปแจ้งความความปรึกษาทนายความเสียก่อน เพื่อให้ทนายดูในเบื้องต้นว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่

           เมื่อพบว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทเกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะต้องปฏิบัติดังนี้

           มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้  ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข ์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

          กล่าวคือ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนหรือดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาโดยตรงและสามารถเรียกค่าเสียหายไปพร้อมกันได้ในการฟ้องศาล ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่รู้หรือควรจะรู้ถึงการกระทำความผิด โดยปริ้นเอกสารหลักฐานไปแจ้งความด้วย

           และเนื่องจากคดีหมิ่นประมาทนั้นไม่ใช่คดีใหญ่ ในการแจ้งความตำรวจมักไม่ค่อยรับแจ้งความหรือพยายามเลี่ยง หากไปแจ้งความแล้วตำรวจไม่รับก็ควรที่จะทำเป็นคำร้องทุกข์ไปยื่นอีกครั้ง และหากยังไม่รับแจ้งความในกรณีที่คดีของคุณทนายมองแล้วว่าเข้าข่ายความผิด ก็สามารถไปร้องเรียนตำรวจที่ไม่รับแจ้งความหรือรับแล้วไม่ทำคดีให้ต่อไปได้ หรือจะว่าจ้างทนายไปฟ้องเองโดยตรงต่อศาลก็ได้ เพื่อให้คดีรวดเร็วยิ่งขึ้นและโอกาสที่จะชนะคดีก็สูงขึ้น
          หากคุณต้องการทำเรื่องฟ้องต่อศาลหรือให้สำนักงานร่างคำร้องทุกข์เพื่อยื่นต่อสถานีตำรวจสามารถติดต่อสำนักงานทนายนิธิพล ทางช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางสำนักงานยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลคดีของคุณ ติดต่อ แฟนเพจ "ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย" หรือโทร 095-453-4145

        

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

              การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ และข้อความว่า "ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณ" นั้นก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุก็เป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากการสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่ และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489

              ได้ความว่า จำเลยได้กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนในงานวัดญาโนทัยว่า "พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง ฯลฯ" ปรากฎว่าพระวัดที่กล่าวนี้มีอยู่ 6 รูป พระภิกษุแดงซึ่งเป็นพระอยู่ในวัดนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
             ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้กล่าวหมิ่นประมาทพระภิกษุแดงโดยเฉพาะ พระภิกษุแดงจึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์พิพากษายกฟ้อง
             โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระภิกษุในวัดนั้นทุกรูป และพระในวัดนั้นก็มีอยู่เพียง 6 รูป พระภิกษุแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหายด้วยผู้หนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอื่น ๆ จะไม่ร้องทุกข์ก็แล้วแต่ท่าน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย

 

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522

                ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาทได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ได้ทำการสอบสวนปากคำผู้เสียหายและพยานอีกปากหนึ่ง โดยยังไม่ได้ทำบันทึกการมอบคดีและลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนผู้นั้นก็ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นต่อมาพนักงานสอบสวนคนใหม่มาทำการสอบสวนต่อจึงได้ทำบันทึกการมอบคดีและบันทึกประจำวันขึ้นดังนี้ หาทำให้การสอบสวนที่ได้กระทำไปแล้วนั้นเสียไปไม่ เพราะเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนได้แล้วโดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์ซึ่งมีอำนาจฟ้อง
                 จำเลยพูดถึงผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงทำงานอยู่ที่สำนักงานที่ดินอำเภอว่ากระหรี่ที่ดิน คำว่า "กระหรี่" หมายความว่าหญิงนครโสเภณีหรือหญิงค้าประเวณี แม้จำเลยจะไม่ได้กล่าวรายละเอียดว่าค้าประเวณีกับใครประพฤติสำส่อนในทางเพศกับใครบ้างก็เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำหมิ่นประมาทแล้ว
ผลของการใส่ความผู้อื่นน่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่นั้นศาลมีอำนาจวินิจฉัยเองได้ไม่จำต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน

 

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2557

               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ระหว่างพิจารณา นางพรพิมล ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
               ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
               โจทก์ร่วมอุทธรณ์
               ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิดอันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติไว้แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
               มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ร่วมและเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะกล่าวประจานโจทก์ร่วมแก่บุคคลที่สามด้วยถ้อยคำว่า ไม่รู้จักโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมมานั่งเฝ้าจำเลยที่ห้องทุกคืน จนจำเลยต้องไปนอนที่อื่นและมาเฝ้าตั้งแต่เช้า มาเฝ้าถึงที่ทำงานของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นภริยาจำเลย และโจทก์ร่วมมาคอยตามตื๊อจำเลยตลอดเวลา อันเป็นถ้อยคำที่ทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้หญิงไม่ดีคอยตามตื๊อจำเลยซึ่งเป็นผู้ชายตลอดเวลา และแอบอ้างเป็นภริยาของจำเลยแม้คำว่า "ใส่ความ" ตามที่บัญญัติในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้นิยามศัพท์ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า หมายถึงการพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เมื่อการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยดังกล่าวเป็นการกล่าวที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม และการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมได้รับความอับอาย อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของโจทก์ร่วมและทำให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่มีลักษณะไปในทำนองแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

 

                   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543

                   ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องของจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 ได้นำไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้งข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่ได้ความจากคำฟ้องของ โจทก์ในคดีนี้กับที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. ก็ปรากฏว่าล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และข้อความที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. นอกจากข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลดังกล่าวแล้ว ยังได้ความอีกว่าการกระทำของ จำเลยที่ 2 เป็นการเผยแพร่คำฟ้องไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะ ส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. จึงเป็น การรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับ ความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) ไม่เป็นความผิด ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

 

                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2542

                      จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์รายวัน ข. จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด เป็นเจ้าของและผู้จำหน่าย หนังสือพิมพ์รายวัน ข. แก่ประชาชนทั่วไป จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ ข. ในคอลัมน์ บันเทิงว่า "จิกจักรวาล!หึ่งปุ๋ยโอเค.นู้ด!5 ล้าน.!" มีใจความในเนื้อข่าวว่า "กระแสคลั่งนู้ดโหมหนักไม่เว้นกระทั่งนางงามจักรวาล"ปุ๋ย" ภ.ปุ๋ยยกตำแหน่งหรูการันตีขูดค่าแก้ผ้า 5 ล้านทางนิตยสาร "มิส"นู้ดอัลบัมได้ส่งตัวแทนไปทาบทาม "ปุ๋ย" ภ.นางสาวไทยและนางงามจักรวาล ปี 2531เพื่อมาถ่ายอัลบัม ด้วย แต่ปรากฏว่าทางปุ๋ย เรียกค่าตัวเพื่อการนี้สูงถึง 5,000,000 บาท จึงจะยอมถ่ายอย่างตอนนี้มิสไปติดต่อปุ๋ยใช่ไหมปุ๋ยโอเค. แต่เงินไม่ถึงก็คอยดูต่อไปแล้วกัน เดี๋ยว เล่มอื่นก็เอาไปถ่ายจนได้เงินแค่ 5,000,000 บาท ถ้าจะทำกันจริง ๆ ต้องมีคนกล้าเสี่ยงแน่นอน" โดยข้อความที่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์โฆษณา จำเลยที่ 1 มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใด เลยในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งไม่ได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่จะปกป้องโจทก์แต่กลับเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1มุ่งประสงค์ใส่ความเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ทำให้ผู้ที่ไม่ทราบความจริงเกิดเข้าใจผิด ดูหมิ่นเกลียดชัง โจทก์อันส่งผลกระทบต่อเกียรติ และสถานะในทางสังคมของโจทก์หาใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอัน เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่จึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ได้รับการยกเว้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332(2) บัญญัติว่าในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดศาลอาจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่ บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียว หรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา เห็นได้ว่า ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำขออภัย ต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือ จากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน ข. ที่จำเลยที่เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา เป็นผู้ใส่ความ โจทก์หรือมีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด หรือรู้ว่าข้อความที่ตีพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ลำพังแต่เพียงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 เดือนและปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549

                     ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก 7 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอร้องให้ ส. ไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่นโดยบอกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่าจึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น เมื่อข้อความในสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2555

                    โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม 
                     เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีนี้จำเลยรับข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีอยู่ของคำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำรับของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตาม ตาราง 2 ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฟ้องคดีนี้อีก
ผลของคดีอาญาทำให้โจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบเลยว่าความเสียหายของโจทก์จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงมีเพียงใด และเมื่อคำนึงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเหตุกับฐานะของโจทก์และจำเลยที่เป็นมูลเหตุให้มีการกล่าวหมิ่นประมาทแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้เพียง 30,000 บาท
                      ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเพียงใดนั้น เห็นว่า การนำสืบฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
                      อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2530

                       การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้กล่าวหา ส. ว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวว่า จำเลยได้ยิน ข่าวเล่าลือว่า ส. กับโจทก์เดิน ด้วยกันนอกโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม และเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อ ว่าโจทก์มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326.

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560

                       จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
                       จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะโจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827/2559

                          ถ้อยคำปราศรัยของ ด. เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ด. หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของ ด. การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ ด. อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2558

                      ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารและประกาศ คสช. ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ก็กำหนดให้คดีที่เกี่ยวโยงกันอยู่ในอำนาจของศาลทหารด้วย โดยประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ค.๒๕๕๗ แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดโดยนำข้อความและภาพล้อเลียนอันเป็นเท็จและเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และจำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ โดยกระทำความผิดตั้งแต่ก่อนใช้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ได้ทำการลบหรือนำข้อความและภาพล้อเลียนออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ตลอดมาจนกระทั่งภายหลังจากมีการประกาศใช้ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและเป็นการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ดังนั้น จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558

                       ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

            

                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2557

                   คดีที่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์สมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์พื้นที่ ๒ กรณีจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความเป็นหนังสือราชการในลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์อ้างตามฟ้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองในการออกหนังสือราชการที่โจทก์กล่าวอ้าง มิได้มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

           

     

 


 

 

                                                ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้