นายจ้างไม่มีสิทธิบังคับให้ลาออก

Last updated: 1 มิ.ย. 2567  |  133 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายจ้างไม่มีสิทธิบังคับให้ลาออก

          นายจ้างไม่มีสิทธิบังคับให้ลาออก

          การจะลาออกหรือไม่ลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างไม่ต้องการจะจ้างลูกจ้างอีกต่อไป ก็ต้องทำการเลิกจ้าง โดยทำหนังสือเลิกจ้างส่งไปยังลูกจ้างให้ทราบ และชำระค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย แต่นายจ้างไม่มีสิทธิไปบังคับให้ลูกจ้างทำใบลาออก หรือไปกดดัน ข่มขู่ ต่างๆนาๆ เพื่อให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก หากนายจ้างกระทำเช่นนั้นก็ถือเสมือนว่านายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างแก่ลูกจ้างและต้องชำระเงินชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548 การสร้างความกดดันหรือหวาดกลัวให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก ทั้งที่ลูกจ้างไม่มีเจตนาลาออก กฎหมายจะถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้

           ซึ่งผลของการที่ลูกจ้างเขียนใบลาออกเองนั้นตามกฎหมาย ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยใดๆจากนายจ้าง แต่หากเป็นการที่นายจ้างทำการเลิกจ้างนายจ้างก็จะต้องชำระเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างดังต่อไปนี้

            - หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้

            - เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย

            - เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย

            - เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย

            - เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย

            - เมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย

           - และเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย

           ทั้งนี้ยังมีค่าชดเชยจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าหรือที่เรียกอีกชื่อคือค่าตกใจด้วย ที่นายจ้างต้องบอกกล่าวการเลิกจ้างแก่ลูกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

           - ในกรณีการเลิกจ้างทั่วไป ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 30 วัน หากไม่ได้แจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนของอัตราค่าจ้างสุดท้าย

           - ในกรณีเลิกจ้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงาน ลดจำนวนลูกจ้างลง ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 60 วัน  หากไม่ได้แจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ของอัตราค่าจ้างสุดท้าย

           - เลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบกิจการ ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 30 วัน หากไม่ได้แจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือนของอัตราค่าจ้างสุดท้าย

           หากนายจ้างมีพฤติกรรมข่มขู่ กดดัน หรือมีคำสั่งให้เขียนใบลาออก ลูกจ้างมีสิทธิไปร้องเรียนนายจ้างถึงพฤติกรรมดังกล่าวที่กรมคุ้มครองแรงงานได้ เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองเพื่อให้ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย หรือในกรณีที่มีการเขียนใบลาออกไปแล้วก็ต้องมีพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาลแรงงาน เพื่อให้ศาลเห็นถึงพฤติการณ์ที่เป็นการข่มขู่ กดดัน หรือมีคำสั่งดังกล่าว เพื่อจะได้รับสิทธิในเงินชดเชยตามกฎหมาย

 



             ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้