Last updated: 4 ต.ค. 2566 | 1483 จำนวนผู้เข้าชม |
บทลงโทษของเด็ก เยาวชน ในคดีอาญา
กฎหมายในปัจจุบันมีการคุ้มครองเด็กหรือผู้เยาว์หรือบุคคลที่มีอายุที่ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะอยู่ ซึ่งบทลงโทษจะขึ้นอยู่กับข้อหาความผิดและอายุของเด็กหรือผู้เยาว์ที่กระทำความผิด โดยตามพระราชบัญญัติ ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 จะเน้นไปที่การคุ้มครองสวัสดิภาพ คุ้มครองสิทธิ ของเด็กหรือเยาวชน โดยนิยามให้คำว่า เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี ส่วนคำว่าเยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุระหว่าง 15 ปี - 18 ปี
โดยบทลงโทษของบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จะระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 - มาตรา 76 ซึ่งระบุไว้ดังนี้
มาตรา 73 ระบุว่า ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้ ดังนี้
1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก และปล่อยตัว หรือจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็ได้
2. วางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำอีก จะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท
3. ส่งตัวไปสถานศึกษา, สถานฝึกและอบรม, สถานแนะนำทางจิต, หรือสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี
4. กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติก็ได้ โดยแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุม
5. ส่งมอบตัวให้ไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน
มาตรา 75 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ถ้าทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และตัดสินว่าจะสั่งลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษทางอาญาแบบคนทั่วไป จะให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจกำหนดให้ดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรา 74
มาตรา 76 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจให้ลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
ซึ่งก็คือ หากเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ถ้ากระทำความผิดอาญา ผลก็คือ ไม่ต้องรับโทษ
หากเด็กอายุ 12 -15 ปี ถ้ากระทำความผิดอาญา ผลก็คือ ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งเป็นมาตรการพิเศษ กล่าวคือ มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน ส่งไปสถานฝึกอบรบ สถานพินิจ หรือคุมประพฤติ
หากผู้เยาว์อายุ 15 -18 ปี ถ้ากระทำความผิดอาญา ผลก็คือ ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู
หากผู้เยาว์อายุ 18 -20 ปี ถ้ากระทำความผิดอาญา ผลก็คือ ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจลดโทษ 1 ใน 3 หรือได้รับโทษกึ่งหนึ่ง
แต่ในกรณีที่เด็กกระทำความผิดนั้นแม้ในทางอาญาจะไม่สามารถลงโทษเด็กที่กระทำความผิดที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีได้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าการกระทำของเด็กนั้นเป็นการกระทำโดยละเมิด ซึ่งผู้เป็นบิดามารดาของเด็กจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น อย่างเช่นในกรณีเด็กอายุ 14 ถือปืนเข้าห้างพาราก้อน ซึ่งเด็กฆ่าคนไป 2 คน และยังบาดเจ็บอีก 5 คน โดยเดินไล่ยิงผู้คนที่พบเห็นไปเรื่อยๆ จนถูกตำรวจจับตัวได้ในที่สุด เป็นต้น
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น
5 ธ.ค. 2566