การสมรสซ้อนเป็นโมฆะ

Last updated: 20 ก.ค. 2566  |  1031 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การสมรสซ้อนเป็นโมฆะ

            การสมรสซ้อนเป็นโมฆะ

            มาตรา  1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

            มาตรา  1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

            มาตรา 1497 การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืน มาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษา ว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้


            เป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการสมรสที่ห้ามชายหรือหญิงทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ตามมาตรา 1452 ที่กำหนดให้มีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว หากทำการสมรสซ้อนหรือสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว การสมรสในครั้งหลังย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ทันทีไม่ว่าผู้ที่สมรสในครั้งหลังจะรู้หรือไม่รู้ถึงการสมรสก่อนหน้านี้หรือแม้ผู้ที่สมรสในครั้งหลังจะสุจริตก็ตาม แต่ถ้าการสมรสในครั้งแรกไม่ชอบด้วยกฎหมายการสมรสรสในครั้งหลังไม่ถือว่าเป็นการสมรสซ้อน การสมรสในครั้งหลังจึงเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
           บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย (ผู้ที่สมรสซ้อนเอง , ภริยาเดิม ฎ.9136/2557 , บุตร ฎ.8186/2545 และภริยาใหม่ ฎ.7136/2553 ) สามารถกล่าวอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะหรือจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าชายหญิงในการสมรสครั้งหลังยังคงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างหรือมีคำพิพากษาแล้วการสมรสซ้อนนั้นย่อมเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่แรกเริ่ม

           ตัวอย่างของการสมรสซ้อน

           คำพิพากษาฎีกาที่ 1221/2527 จดทะเบียนสมรสซ้อน การสมรสตกเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ภรรยาหลวงจึงเป็นภรรยาของฝ่ายชายเพียงคนเดียว

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331 - 6332/2556 โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่ การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2545 ชายหรือหญิงที่ทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมาตรา 1497 ระบุว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ ปรากฏว่าขณะที่ ท. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นท.มีคู่สมรสคือ ป. อยู่แล้วการที่ท.มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยที่ยังมิได้หย่าขาดจาก ป. จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มีผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

              ระวังการจดทะเบียนสมรสซ้อนมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย!!!

              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2530 โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับน้องสาวของโจทก์ไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรส ณ ที่ใดมาก่อนเพื่อขอจดทะเบียนสมรสกับโจทก์นายทะเบียนจึงจดทะเบียนสมรสให้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ได้



 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้