สัญญาห้ามทำงานกับกิจการคู่แข่ง

Last updated: 2 มิ.ย. 2566  |  6365 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สัญญาห้ามทำงานกับกิจการคู่แข่ง

             สัญญาห้ามทำงานกับคู่แข่ง

            ข้อสัญญาการห้ามไปทำงานกับคู่แข่ง หรือที่เรียกว่า "สัญญาห้ามทำงานกับคู่แข่ง" ส่วนใหญ่มักจะพบเจอในสัญญาว่าจ้างพนักงาน ที่กำหนดระยะเวลาระหว่างที่ยังเป็นพนักงานอยู่ ห้ามทำงานกับคู่แข่งทางการค้าของนายจ้างหรือกิจการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการประกอบกิขการค้าในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการไปดำเนินการเปิดกิจการหรือประักอบกิจการที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับนายจ้างด้วย (ประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง) เช่น ทำงานเสริมนอกระยะเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้างหรือบริษัทผู้ว่าจ้าง หรือหากพ้นสถานะการเป็นลูกจ้างแล้ว ก็ห้ามทำงานในบริษัทหรือกิจการของคู่แข่ง โดยมักจะกำหนดระยะเวลา 1-2 ปี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หากลูกจ้างได้ดำเนินการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ข้อสัญญาห้ามไปทำงานกับคู่แข่งดังกล่าว ย่อมมีผลบังคับใช้ได้ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อสัญญาดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิดำเนินคดีโดยฟ้องเป็นคดีแพ่งในศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายได้

             ซึ่งตามความเหมาะสมแล้ว ทางนายจ้างหรือบริษัทผู้ว่าจ้างต้องกำหนดระยะการห้ามทำงานกับคู่แข่งไม่เกิน 2 ปี เพราะหากกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 2 ปีขึ้นไปจะถือว่านายจ้างได้ประโยชน์เกินสมควร และจะทำให้ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างและยังเป็นการตัดช่องทางการหารายได้หรือช่องทางการทำมาหากินของลูกจ้างด้วย ดังนั้นระยะเวลที่เกินกว่า 2 ปี จะนำมาบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งจะเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 4368/2549 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3580/2561

 

            คำพิพากษาฎีกาที่ 4368/2549

            ข้อตกลงซึ่งเป็นข้อห้ามตามสัญญาที่ห้ามพนักงานของโจทก์ไปทำงานกับบริษัทหรือนายจ้างอื่นใดที่ประกอบกิจการค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกับบริษัทนายจ้างเก่า อันเป็นการแข่งขันและแสวงหาผลประโยชน์ ข้อห้ามดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจนมิได้เป็นการห้ามจำเลยประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหากินอย่างเด็ดขาด จำเลยสามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงที่ห้ามได้ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียวเพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างเก่าเท่านั้นจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงธุรกิจ ย่อมมีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในส่วนที่ข้อห้ามตามสัญญาเอกสารเป็นการห้ามโดยไม่มีกำหนดเวลาไว้ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยให้ต้องรับภาระมากเกินไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดให้มีผลบังคับได้เพียง 2 ปีนับแต่วันพ้นจากการเป็นลูกจ้าง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้ว

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3580/2561

           ข้อตกลงตามหนังสือเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างโดยจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างอย่างเด็ดขาด ลักษณะข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่การตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้างเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจำกัดสิทธิเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน นับว่าทำให้ลูกจ้างผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเห็นสมควรให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 14/1 และพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5

           อีกทั้งลักษณะของงาน จะต้องเป็นการนำความรู้หรือข้อมูลซึ่งเป็นความลับจากกิจการนายจ้าง ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานให้กิจการคู่แข่งของนายจ้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการของนายจ้างเดิม แต่หากลักษณะงานเป็นรูปแบบของงานโดยทั่วไป ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความลับหรือข้อมูลสำคัญหรือกรรมวิธีการผลิตของกิจการของนายจ้างเดิม เช่น ในตำแหน่งงานธุรการ ตำแหน่งพนักงานทั่วไป เป็นต้น แบบนี้จะนำข้อสัญญาห้ามทำงานกับคู่แข่ง มาบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของข้อตกลงดังกล่าว เพราะแม้ลูกจ้างจะทำงานในกับบริษัทคู่แข่ง ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆหรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆต่อนายจ้างเดิม

 

 

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้