แม้ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ แต่เจ้าหนี้ยังสามารถฟ้องเรียกเงินต้นทั้งหมดคืนได้

Last updated: 23 พ.ค. 2566  |  6575 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แม้ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ แต่เจ้าหนี้ยังสามารถฟ้องเรียกเงินต้นทั้งหมดคืนได้

         แม้ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ แต่เจ้าหนี้ยังสามารถฟ้องเรียกเงินต้นทั้งหมดคืนได้

         การกู้ยืมเงินกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ตามกฎหมายกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่เกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เท่านั้น หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ผลก็คือจะทำให้ดอกเบี้ยทั้งหมดกลายเป็นโมฆะทันที (ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ได้) ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ได้วินิจฉัยเป็นแนวทางไว้ว่า เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระมาแล้วทั้งหมด สามารถนำหักกับเงินต้นได้ แต่ปัจจุบันมีคำพิพากษาฎีกาที่ 745/2565 ไว้วินิจฉัยกลับหลักของฎีกาเก่า ซึ่งกำหนดให้ เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระมาแล้วมา จะไม่นำไปหักกับเงินต้น เจ้าหนี้จึงยังมีสิทธิฟ้องเรียกเงินต้นทั้งหมดคืนได้ แม้จะคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้เป็นผู้เสนอดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่หากเจ้าหนี้เป็นคนเสนอดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กำหนดกำหนดเอง เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระมาแล้วยังสามารถนำไปหักกันเงินต้นได้ และแม้ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะไปแล้ว แต่เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คือร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ด้วย

         คำพิพากษาฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

         คำพิพากษาฎีกาที่ 745/2565 เมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์

          แต่การฟ้องลูกหนี้ เจ้าหนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานในการฟ้องด้วย โดยกฎหมายกำหนดว่าการกู้ยืมเงินกันตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไปต้องมีสัญญาด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า หากไม่มีสัญญากู้ยืมเงิน ก็สามารถใช้ข้อความสนทนาการยืมเงินพร้อมกับสลิปการโอนเงิน แทนสัญญากู้ยืมเงินได้ในการฟ้องลูกหนี้ หากเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานเป็นเอกสารว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริงหรือไม่มีหลักฐานแชทการยืมและสลิปการโอนเงิน เบื้องต้นสามารถทำเรื่องฟ้องต่อศาล แต่ผลของคดีก็จะแพ้เพราะขาดหลักฐานที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี

          สำหรับคำแนะนำของทนาย ก่อนจะให้ใครกู้ยืมเงิน ควรทำสัญญาขึ้นมาระบุรายละเอียดการกู้ยืมเงินให้ชัดเจน ว่าลูกหนี้เป็นใคร เจ้าหนี้เป็นใคร ยอดเงินกู้เท่าไหร่ คิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ ตกลงจะคืนเงินเมื่อไหร่ และลงลายมือชื่อลูกหนี้กับเจ้าหนี้ให้ชัดเจน และดอกเบี้ยไม่ควรคิดเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือ 1.25 ต่อเดือนโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้ว ยังเสี่ยงโดนดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอีกด้วย ซึ่งมีโทษจำคุก

          หากคุณต้องการฟ้องร้องลูกหนี้เพื่อเรียกเงินต้นคืน พร้อมกับดอกเบี้ยผิดนัด ร้อยละ 5 ต่อปี สามารถติดต่อสำนักงานทนายความของเราให้ดำเนินการฟ้องร้องคดีให้แก่คุณได้ สำนักงานกฎหมายของเราพร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือคุณและดำเนินการให้คุณได้รับประโยชน์ให้ได้มากที่สุด โดยสามารถติดต่อช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้