การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในโซเชียลมิเดีย

Last updated: 10 มี.ค. 2566  |  11227 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นในโซเชียลมิเดีย

          ผู้ใดที่แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพจปลอม Facebook ปลอม เฟซบุ๊กปลอม , Twitter ปลอม ทวิตเตอร์ปลอม , Instagram ปลอม ไอจีปลอม , Line ปลอม ไลน์ปลอม  หรือแอคหลุม บัญชีอวาตาร ในสื่อโซเชียลมีเดียอื่นใด ซึ่งได้ใช้ภาพและชื่อของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำรูปผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นตนเองเพื่อไปหลอกให้ใครก็ตาม หรือสวมรอยเป็นคนอื่น หรือนำไปหลอกฉ้อโกงเงินของผู้อื่น หรือได้นำภาพของบุคคลอื่นมาตัดต่อ ดัดแปลง โดยที่เจ้าของภาพไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยพิจารณาความผิดดังต่อไปนี้

          ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

         มาตรา 16 “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

          ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอายผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง”

          ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ต้องเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลง ที่จะทำให้ผู้ที่ถูกแอบอ้างนั้นได้รับความเสียหาย จึงจะผิดตามมาตรา 16  แต่ตามความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้มีแนวคำพิพากษามาให้ศึกษาแนวทางกันมากนัก โดยในกรณีนี้ที่นำภาพของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นตนเอง จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (1) ด้วยอีกมาตราหนึ่งหากน่าจะทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย อย่างเช่นการนำไปหลอกผู้อื่นเพื่อฉ้อโกงเงิน โดยมาตรา 14 (1) ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

           (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

          หากผิด มาตรา 14 (1) แล้วผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคดีละเมิดในส่วนของศาลแพ่งได้อีกด้วย โดยมึอายุความ 1 ปี นับแต่ทราบถึงการถูกแอบอ้างดังกล่าว

           ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้น เป็นพระราชบัญญัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกัน ควบคุมการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ หากใครกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ ก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่ พ.ร.บ.กำหนดไว้ ในปัจจุบันมีคนใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงสมาร์ตโฟนเป็นจำนวนมาก บางคนก็อาจจะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แต่บางคนก็อาจใช้สิ่งนี้ทำร้ายคนอื่นในทางอ้อมด้วยก็ได้

         ซึ่งประเทศไทย มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาแล้ว 2 ฉบับ คือ ฉบับแรก ปี พ.ศ. 2550 และ ฉบับสอง ปี พ.ศ. 2560 โดยฉบับที่ใช้งานปัจจุบัน คือฉบับปี 2560 ความแตกต่างสำคัญระหว่างฉบับปี 2560 กับ 2550 คือ แก้ไขมิให้ “ความผิดหมิ่นประมาท” เป็นความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ อีกต่อไป เนื่องจากในอดีต ความผิดหมิ่นประมาท ถือว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งกฎหมายระบุว่า ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นแม้ต่อมา คู่ความจะเจรจายอมความกันสำเร็จ หรืออยากถอนฟ้อง ศาลก็ไม่สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่ลงโทษคู่ความได้ ส่งผลให้มีคดีฟ้องร้องขึ้นศาลจำนวนมากและเกิดปัญหาทางปฏิบัติและเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำ “ความผิดหมิ่นประมาท” ออกจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้ไปบังคับใช้ด้วยประมวลกฎหมายอาญาแทน คือมาตรา 326 และมาตรา 328 ทำให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ซึ่งการแอบอ้างนอกจากจะเข้าข่ายผิด นอกจากจะเกี่บวข้องกับ พรบ.คอม มาตรา 16 หรือ มาตรา 14 (1) แล้ว ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่น่าสนใจ ดังนี้

         ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องเอาผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้ด้วยหรือไม่

         ถึงแม้ว่าใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะระบุว่าผู้อื่นไม่สามารถเก็บ ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนได้ หากการนำรูปของผู้อื่นไปแอบอ้างเพื่อไปหลอกลวงผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายเช่น หลอกเอาเงิน หรือหลอกหลวงให้กระทำการใดๆก็ตาม ก็ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ หากเป็นกรณีดังกล่าวก็เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย หากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลซึ่งก็คือรูปภาพไม่ยินยอมให้นำภาพดังกล่าวไปใช้ โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 27 และ 79 ระบุว่า

          มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้ รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมได้โดยได้รับยกเว้น ไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 หรือมาตรา 26

          บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลมาจากการเปิดเผยตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่ใช้หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูล ส่วนบุคคลในการขอรับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น

          ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอ ความยินยอมตามวรรคหนึ่ง ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องบันทึกการใช้หรือเปิดเผยนั้นไว้ในรายการ ตามมาตรา 39

           มาตรา 79 ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้

          ดังนั้น นอกจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น โดยใช้รูปของบุคคลอื่นที่ ผู้เสียหายสามารถเอาผิดแก่ผู้กระทำดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 16 หรือมาตรา 14 (1) แล้วยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ด้วย ที่ระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและเป็นความผิดอันยอมความได้จึงต้องแจ้งความหรือฟ้องภายใน 3 เดือนด้วยนับแต่รู้หรือควรจะรู้ถึงการกระทำความผิด

 



ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้