ฟ้องขับไล่ให้ออกจากบ้านหรือที่ดิน ทำอย่างไร

Last updated: 15 ก.พ. 2566  |  21962 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฟ้องขับไล่ให้ออกจากบ้านหรือที่ดิน ทำอย่างไร



             เมื่อมีบุคลลที่เข้ามาอยู่ในบ้านหรือที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่แล้ว แต่ภายหลังบุคคลที่เข้ามาอยู่ผิดสัญญา เช่น ผิดสัญญาเช่าและผู้เช่าไม่ยอมย้ายออก หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินไม่ประสงค์จะให้อยู่ในบ้านหรือที่ดินอีกต่อไป เจ้าของกรรมสิทธิ์สามารถดำเนินการฟ้องขับไล่ต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยออกไปจากบ้านหรือที่ดินได้

             เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่ดิน กรณีนี้จำเลยจะต้องออกจากที่ดินไป หากจำเลยไม่ยอมออกจากที่ดิน เช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิให้พนักงานบังคับคดีขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินได้ ซึ่งการบังคับคดีจะต้องดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางแพ่ง มาตรา 350 “ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่จำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 351 มาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354”

           ทั้งนี้การบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ให้ขับไล่ออกไปจากที่ดิน ต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น โจทก์จะขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ขับไล่เองไม่ได้ อีกทั้งการบังคับคดีกรณีขับไล่ไม่ใช่การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงินจึงไม่อาจมีการร้องขัดทรัพย์ได้

           การบังคับคดีให้จำเลยออกไปจากที่ดินแบ่งได้เป็น 2 กรณีดังนี้

           ตามมาตรา 351 ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่จำเลยออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง

            (1) ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีบุคคลใดอยู่แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 352

            (2) ถ้าจำเลยหรือบริวารไม่ออกไปจากทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 353

            ตามมาตรา 352 ในกรณีตามมาตรา 351 (1) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งมอบทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนให้โจทก์เข้าครอบครองได้ทันที ถ้ามีสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ตามความจำเป็น

           ถ้ายังมีสิ่งของของจำเลยหรือของบุคคลใดอยู่ในทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีสิ่งของนั้นไว้ และมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

           (1) ถ้าสิ่งของนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือมีสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของสิ่งของนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจำหน่ายสิ่งของนั้นได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่เห็นสมควร และเก็บรักษาเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้แทนสิ่งของนั้น หรือทำลายสิ่งของนั้น หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพแห่งสิ่งของ ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และประโยชน์สาธารณะ

           (2) ถ้าสิ่งของนั้นมิใช่สิ่งของตามที่ระบุไว้ใน (1) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจนำสิ่งของนั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือมอบให้โจทก์เป็นผู้รักษา หรือฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร แล้วแจ้งหรือประกาศให้จำเลยหรือเจ้าของสิ่งของมารับคืนไปภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ถ้าจำเลยหรือเจ้าของสิ่งของไม่มารับหรือไม่ยอมรับสิ่งของนั้นคืนไปภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตาม (1) โดยอนุโลม

            เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มาจากการจำหน่ายสิ่งของตามวรรคสอง (1) หรือ (2) ถ้าจำเลยหรือเจ้าของสิ่งของไม่มาขอรับคืนภายในกำหนดห้าปีนับแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

            ในกรณีที่สิ่งของตามวรรคสองถูกยึด อายัด หรือห้ามโอน ยักย้าย หรือจำหน่ายตามวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาหรือเพื่อการบังคับคดีในคดีอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจย้ายสิ่งของดังกล่าวไปเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีอื่นทราบด้วย

             ให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรานี้ และให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป

             มาตรา 353 ในกรณีตามมาตรา 352 (2) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้

              (1) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยหรือบริวาร และให้ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 363 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

              (2) ปิดประกาศให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นซึ่งอ้างว่ามิได้เป็นบริวารของจำเลย ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแสดงว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น

             เมื่อมีการจับกุมจำเลยหรือบริวารตาม (1) แล้ว หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวหลบหนีไปจากทรัพย์นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 352

 

           1. กรณีที่ไม่มีจำเลยหรือบริวารอยู่ในที่ดิน

            ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดอยู่ในที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จัดให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินได้ทันที โดยโจทก์จะจัดการให้ตนเข้าครอบครองด้วยตนเองโดยพลการไม่ได้ หากที่ดินดังกล่าวมีสิ่งกีดขวางเข้าไปไม่ได้ พนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางได้ตามความจำเป็น ถ้ามีทรัพย์สินอื่นของจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจเก็บไว้ และแจ้งให้มารับภายในกำหนด (ไม่ได้เก็บไว้ให้โจทก์) หากไม่มารับภายในระยะเวลาที่กำหนด ทรัพย์สินนั้นก็จะตกสู่แผ่นดิน

           2. กรณีที่มีจำเลยหรือบริวารอยู่ในที่ดิน

           หากจำเลยดื้อแพ่ง ไม่ยอมออกจากที่ดินทั้งๆที่มีคำพิพากษาขับไล่แล้ว ไม่ว่าจะตัวจำเลยหรือบริวารของจำเลยก็ตาม กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะขอศาลให้ออกหมายจับ เพื่อทำการขังจำเลยหรือบริวารที่ไม่ยอมออกจากที่ดิน โดยอำนาจจับคุมขังนี้ ไม่ใช่จะขอให้จับกุมแค่จำเลยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริวารของจำเลยด้วย ซึ่งการขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุม ถือเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยเฉพาะ โจทก์จะเป็นผู้ขอไม่ได้  ซึ่งการกักขังนั้น กักขังได้ชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน6เดือน และในระหว่างที่ขังจำเลยนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจะดำเนินการส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์

            ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่โจทก์แล้ว หากจำเลยกลับเข้าไปอยู่ในที่ดินนั้นอีก จำเลยก็จะมีความผิดฐานบุกรุก โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยความผิดฐานบุกรุกได้ ซึ่งคดีบุกรุกเป็นความผิดอาญาและมีโทษจำคุกและปรับ

             คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่9275/2556 ตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยังที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินการบังคับคดี เมื่อไปถึงพบจำเลยยินยอมยกต้นกล้วยทั้งหมดในที่ดินพิพาทให้ตกเป็นของโจทก์ และโจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนต้นกล้วยพร้อมปรับที่ดินเอง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เข้าครอบครองแล้วในวันดังกล่าว ดังนั้น การบังคับคดีจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้ทันทีนับแต่วันรับมอบที่ดินพิพาท การที่จำเลยนำไม้กระดานไปกองอยู่บนแคร่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินบางส่วนของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่รบกวนสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังที่การบังคับคดีได้สิ้นสุดแล้ว โจทก์ชอบที่จะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2551 คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหาย 22,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว คู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิม จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับแก่ผู้ร้องซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

           โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับบริวารและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม แม้ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย คำพิพากษาตามยอมก็ย่อมมีผลบังคับแก่ผู้ร้องด้วย โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3064/2545 การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยยื่นฟ้องขับไล่ ส. และจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี ให้โจทก์ในฐานะบริวารของ ส. ออกจากที่พิพาท เมื่อโจทก์เห็นว่าตนมิใช่บริวารของ ส. แต่เป็นเจ้าของครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้ว แสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งอันเกี่ยวกับสิทธิในที่พิพาทแล้ว โจทก์มีสิทธิเสนอคดีของตนต่อศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะปิดประกาศกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)ในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่ ส. ออกจากที่พิพาทก็ตาม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวแม้หากบุคคลนั้นไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นบริวารของจำเลยหาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิห้ามบุคคลนั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องขอเข้าไปในคดีที่จำเลยบังคับขับไล่ ส. โจทก์จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันในผลแห่งคดีดังกล่าวหรือจะถูกต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

 

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษากฎหมายด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้