นายจ้างต้องรับผิดชอบร่วมกับลูกจ้าง - ทนายนิธิพล

Last updated: 4 ธ.ค. 2565  |  13407 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายจ้างต้องรับผิดชอบร่วมกับลูกจ้าง - ทนายนิธิพล

นายจ้างต้องรับผิดชอบร่วมกับลูกจ้าง


          เมื่อลูกจ้างอยู่ระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้าง แล้วปรากฏว่าได้กระทำการใดที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดนั้น เช่นลูกจ้างเป็นพนักงานขับรถขนส่งสินค้า ขับรถยนต์โดยประมาททำให้เกิดการชนกันขึ้น เป็นต้น เมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นายจ้างจะต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างอย่างลูกหนี้ร่วม โดยนายจ้างไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่รับผิดได้ หากลูงจ้างไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนหรือไม่สามารถชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย นายจ้างก็ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย แต่การที่นายจ้างชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยในเงินตามจำนวนที่ชำระให้แก่ผู้เสียหายไปได้ และหากทั้งลูกจ้างและนายจ้างเพิกเฉยไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องลูกจ้างและนายจ้างเป็นคดีต้อศาลได้

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 บัญญัติว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น

          ตามมาตรา 425 และมาตรา 426 จะเห็นได้ว่าเมื่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานได้กระทำการละเมิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว นายจ้างจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยเป็นความรับผิดอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่อย่างไรก็ดีนายจ้างยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนจากลูกจ้างถ้านายจ้างได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้วที่เกิดจากการกระทำละเมิดของลูกหนี้

          การละเมิดเป็นได้หลายกรณีไม่ได้มีเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุรถยนต์ตามตัวอย่างเท่านั้น หากเข้าหลักเกณฑ์ที่ได้กระทำละเมิดต่อผู้อื่น ซึ่งขณะทำละเมิดอยู่ในระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วยทั้งสิ้น


          คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3757/2553 จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะใช้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปเติมน้ำมันแม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2

           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 ที่บัญญัติให้ผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวนนั้น มิได้ระบุข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขแห่งการรับผิดของผู้จัดการในหนี้ของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดด้วยจึงชอบแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553 แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี จะไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่มาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่การก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ทุกๆ 20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของห้าง โดยต้องตรวจบัตรเมื่อจะนำรถออกให้ตรงกับทะเบียนรถ จึงเป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ตามพฤติการณ์เป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จึงเป็นผู้ให้บริการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 3 และนอกจากผู้บริโภคในคดีนี้แล้วยังมีผู้บริโภคอื่นอีกหลายรายที่นำรถไปจอดในที่จอดรถของห้างจำเลยที่ 1 แล้วสูญหายไป การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 39 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่ารถที่สูญหายไปบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ระมัดระวังในการออกบัตรจอดรถและตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้