ไม่จ่ายเงินค่าส่วนกลางของหมู่บ้าน - ทนายนิธิพล

Last updated: 4 ธ.ค. 2565  |  20307 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไม่จ่ายเงินค่าส่วนกลางของหมู่บ้าน - ทนายนิธิพล

ไม่จ่ายเงินค่าส่วนกลางของหมู่บ้าน


          เงินค่าส่วนกลางคืออะไร เงินส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายที่นิติบุคคลของโครงการที่อยู่อาศัยเรียกเก็บจากลูกบ้าน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสิ่งสาธารณูประโภคต่างๆ ในอาณาเขตพื้นที่หมู่บ้านที่ลูกบ้านมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมดูแลรักษาถนนหนทางในเขตหมู่บ้าน ค่าน้ำประปา ไฟฟ้าของพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการเก็บขยะ รักษาความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตหมู่บ้าน เป็นต้น

          หากลูกบ้านไม่จ่ายค่าส่วนกลางของหมู่บ้านจะเป็นอย่างไร

          ซึ่งตามปกติแล้ว ในสัญญาที่ทำการจะซื้อจะขายบ้านได้มีการระบุไว้อยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้วว่า เจ้าของบ้านจะมีหน้าที่ที่ต้องเสียค่าส่วนกลาง กล่าวคือ ผู้ซื้อได้ตกลงไว้แล้วว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้คือ “ค่าส่วนกลาง” อีกทั้งยังมีกฎหมายดำเนินการกับผู้ที่ค้างชำระค่าส่วนกลาง โดยตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการดูแลโครงการ สามารถดำเนินการระงับการให้บริการเจ้าของบ้านที่ค้างชำระเงินค่าส่วนกลางได้ และรวมถึงสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อบังคับให้จ่ายได้ด้วย ซึ่งนอกจากเสียค่าปรับค่าส่วนกลางแล้วลูกบ้านที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลางยังโดนตัดสิทธิ์ในหลายๆด้าน เช่น

             1. สามารถถูกเรียกเก็บค่าปรับค่าส่วนกลาง 10-15% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยหากไม่จ่ายตามกำหนด

             2. สามารถถูกระงับการให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง และสิ่งอำนวยความสะดวกหากค้างชำระเกิน 3 เดือน

             3. สามารถถูกอายัดไม่ให้จดทะเบียนสิทธิหรือทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับโครงการ รวมถึงการขายด้วย หากค้างชำระเกิน 6 เดือน

             4. สามารถถูกฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ชำระหนี้

          ทั้งนี้รายละเอียดของบทลงโทษขึ้นอยู่กับนิติบุคคลของแต่ละโครงการ

          โดยการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ สำหรับให้ชำระค่าส่วนกลางนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี

             (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ

             (2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ

             (3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)

             (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่ๆในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา

             (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

          จะเห็นได้ว่าค่าส่วนกลางที่ค้างชำระนั้นเข้าตามข้อ (4) โดยจะมีอายุความ 5 ปี ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องคดีกับลูกบ้านที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลางของหมู่บ้านจะสามารถเรียกคืนย้อนหลังได้เพียง 5 ปี เท่านั้น แม้ว่าลูกบ้านจะไม่จ่ายค่าส่วนกลางซึ่งติดค้างกันมาหลายสิบปีก็ตาม ฉะนั้น นิติบุคคลควรจะตรวจสอบให้ดีว่าลูกบ้านได้ติดค้างค่าส่วนกลางมาเป็นเวลาเท่าไหร่แล้ว

          ดังนั้น ผู้ที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลางตามกำหนดจึงต้องเสียค่าปรับค่าส่วนกลาง รวมทั้งยังสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกบ้านที่ไม่จ่ายค่าส่วนกลางของหมู่บ้านได้

          คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3188/2561 พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและลงโทษผู้มีหนี้ที่ชำระแต่ชำระเงินดังกล่าวล่าช้าเฉพาะสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในขณะที่เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภคดังกล่าวอย่างแท้จริงเท่านั้น โดยไม่ได้บัญญัติให้รวมไปถึงผู้รับโอนที่ดินต่อมาจากเจ้าของเดิมที่เป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้รับผิดในค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคอันเกิดก่อนที่จะได้รับโอนหรือเข้าครอบครองที่ดิน และไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อที่ดินดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคโดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาแสดง เมื่อเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคเกิดขึ้นก่อนโจทก์เข้าเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โจทก์ไม่มีหน้าที่ที่ต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์รับโอนที่ดินมา จำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ย่อมเรียกเอาจากเจ้าของที่ดินคนเดิมในขณะเกิดหนี้ได้โดยตรง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2555 โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 46 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร คณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรจึงทำหน้าที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยที่ประชุมคณะกรรมการมีมติมอบอำนาจให้ ส. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง เพื่อบังคับชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการสาธารณะ อันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8054/2559 เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดตั้งขึ้นแล้ว ย่อมมีอำนาจหน้าที่จัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคได้ และมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิก จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิกของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและเป็นสมาชิกของจำเลย มีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค สำหรับที่ดินที่ตนซื้อแก่จำเลย ตามความในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ส่วนการที่ผู้จัดสรรที่ดินยังไม่จดทะเบียนโอนที่ดินและทรัพย์สินอื่นอันเป็นสาธารณูปโภคแก่จำเลยนั้น เป็นคนละกรณีที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออ้าง เพื่อปฏิเสธหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคแก่จำเลย


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้