Last updated: 14 ก.ย. 2565 | 2033 จำนวนผู้เข้าชม |
จะฟ้องหย่าต้องทำอย่างไร
การจะฟ้องหย่า ต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถตกลงยินยอมด้วยความสมัครใจในการจะหย่าได้ หรือคู่สมรสไม่สามารถจะตกลงกันได้ในเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน หรือเรื่องการเลี้ยงดูบุตร จึงไม่สามารถจะหาข้อยุติและทำการหย่าด้วยความสมัครใจกันที่เขตหรืออำเภอได้ เมื่อไม่สามารถตกลงกันด้วยความสมัครใจได้ คู่สมรสอีกฝ่ายจึงต้องว่าจ้างทนายความเพื่อทำเรื่องฟ้องหย่าต่อศาลเยาวชนและครอบครัว แต่การจะฟ้องหย่าได้นั้นต้องมีมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าด้วย ไม่ใช่เพียงหมดรักกันแล้วก็จะทำเรื่องฟ้องหย่าต่อศาลได้ โดยเหตุแห่งการฟ้องจะหย่าจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.) “สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้” กรณีนี้คือกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชู้ หรือไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเป็นประจำ ถ้าหากคู่สมรสอีกฝ่ายมีหลักฐานที่พอเชื่อว่าคู่สมรสนั้นได้กระทำผิดตามข้อนี้ ก็สามารถใช้เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าได้ และเรียกเงินทดแทนได้ด้วย
2.) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
3.) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
4.) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
5.) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
6.) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
7.) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
8.) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
9.) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
10.) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
11.) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
12.) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
ตามเหตุแห่งการฟ้องหย่าทั้ง 12 ข้อนี้ เป็นข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เมื่อมีเหตุแห่งการฟ้องหย่าข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกัน ก็จะต้องทำการฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ทำการหย่าขาดจากกันได้ และเมื่อมีคำพิพากษาให้ทำการหย่าขาดจากกันแล้วก็สามารถนำคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นต่อนายทะเบียนที่เขตหรืออำเภอเพื่อเปลี่ยนแปลงการสมรสฝ่ายเดียวได้เลย อีกทั้งการฟ้องหย่ายังสามารถนำมูลเหตุอื่นๆ ฟ้องไปในคราวเดียวกันได้ เช่น เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร ฟ้องชู้ เรียกเงินทดแทน ขอแบ่งสินสมรส ขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เมื่อท่านยืนยันและมั่นใจแล้วว่าต้องการจะฟ้องหย่าก็ควรรีบติดต่อทนายความเพื่อนัดคุยรายละเอียดการฟ้อง ซึ่งในเบื้องต้นทนายจะต้องประเมินข้อเท็จจริงพร้อมด้วยพยานหลักฐานก่อนว่าคดีของคุณมีแนวโน้มทางกฎหมายเป็นเช่นไร และค่าดำเนินการมีจำนวนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายเป็นหลัก
หากคุณต้องการให้สำนักงานทนายความของเราดูแลคดีของคุณ สามารถติดต่อช่องทางการติดต่อตามข้อความด้านล่างนี้ ซึ่งสำนักงานของเรามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการดำเนินคดีครอบครัวมาหลายปี สามารถทักเข้ามาปรึกษาหรือสอบถามก่อนในเบื้องต้นได้ เรายินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณอย่างเต็มที่และพร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณเมื่อคุณมีปัญหาทางด้านกฎหมาย
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145
30 ก.ค. 2567
21 ส.ค. 2567
9 ส.ค. 2567