ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลในคดีแพ่ง - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  11570 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลในคดีแพ่ง - ทนายนิธิพล

ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลในคดีแพ่ง

          เนื่องจากการฟ้องร้องคดีแพ่ง ต้องมีการจ้างทนายความเพื่อฟ้องร้อง ซึ่งจะต้องมีการเสียค่าขึ้นศาล ค่าส่งหมายให้ฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ทราบถึงการฟ้องร้อง ค่าคำร้องและอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

             1.) ติดต่อว่าจ้างทนายเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อทำคำร้องยื่นสู่ศาล

             2.) ยื่นฟ้องและกำหนดวันนัดของศาล

             3.) ศาลตรวจคำฟ้อง (รับฟ้อง/ ไม่รับฟ้อง/ ส่งคืน)

             กรณีอ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ หรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไป หรือขาดรายละเอียดตามที่กฎหมายต้องการ ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำคู่ความ แต่หากเป็นกรณีฟ้องผิดเขตอำนาจศาล ศาลจะสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความไปเพื่อไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ

             4.) ส่งหมายเพื่อให้จำเลยมายื่นคำให้การ ซึ่งจำเลยจะต้องยื่นคำให้การ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย แต่กรณีการส่งหมายโดยวิธีการปิดหมาย กฎหมายให้ถือว่าได้รับหมายนั้นหลังจาก 15 วัน ซึ่งเท่ากับว่ากรณีนี้จำเลยต้องยื่นคำให้การภายใน 30 วัน ส่วนคดีมโนสาเร่ คดีผู้บริโภค หรืออื่นๆ จำเลยสามารถยื่นคำให้การในวันนัดแรกได้

             5.) เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลก็จะตรวจคำให้การ แต่หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ ก็จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

             6.) นัดไกล่เกลี่ยและนัดชี้สองสถาน ซึ่งจะเป็นนัดแรกของศาล ทั้งนี้สามารถเป็นได้ทั้งนัดไกล่เกลี่ยหรือนัดชี้สองสถานหรือจะเป็นนัดทั้งสองก็ได้ ซึ่งนัดชี้สองสถาน คือการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีและหน้าที่นำสืบ

             7.) หากคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะนำไปสู่นัดสืบพยาน สืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย

             8.) นัดฟังคำพิพากษา ศาลจะอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ศาลจะวินิจฉัยจากพยานหลักฐานทั้งปวงในคดี ถ้าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายไหนมีเหตุผลน่าเชื่อถือกว่าก็ตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะ หากคู่ความฝ่ายใดไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษาต่อไปได้

 

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2528 จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด โจทก์เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ ต่อมาจำเลยขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่าไม่จงใจขาดนัด ศาล อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การใหม่ภายใน 8 วัน ครบกำหนดจำเลยไม่ยื่นคำให้การอีก ดังนี้โจทก์จะต้องยื่นคำขอต่อศาลใหม่เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ภายในกำหนด 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลง ที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามคำขอของโจทก์ไว้ก่อนเป็นอันเพิกถอนไป เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ การที่ศาลนัดสืบพยานโจทก์ไว้ก่อนหามีผลลบล้างให้โจทก์ไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 ไม่

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 317/2530 ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยยอมรับว่าได้ย้ายภูมิลำเนาตามที่โจทก์ระบุในฟ้องไปแล้ว การที่พนักงานเดินหมายรายงานว่าไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาที่ระบุในฟ้อง พบบริษัทจำเลยปิดประตูใส่กุญแจทิ้งไว้ สอบถามบุคคลข้างเคียงได้ความว่าบริษัทจำเลยย้ายไปแล้วประมาณ 10 วัน ไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ไหนจึงถูกต้องและเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยได้โดยวิธีธรรมดา ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมายธรรมดา จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 แล้ว

             จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายหลัง 15 วันนับแต่วันส่งคำบังคับ โดยอ้างว่าเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องคดี เมื่อธนาคารแจ้งให้ทราบว่าศาลชั้นต้นสั่งอายัดเงินเป็นการอ้างว่าเหตุที่ยื่นคำขอล่าช้า เพราะมีพฤติการณ์พิเศษนอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เมื่อจำเลยยื่นคำขอภายใน 15 วัน นับแต่พฤติการณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ปรากฏว่าโจทก์ยังไม่มีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาย่อมให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9219/2547 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทำมาใหม่เป็นคำสั่งชั้นตรวจคำคู่ความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ตามวรรคสองของ มาตรา 18 แต่วรรคท้ายของมาตรา 18 บัญญัติให้อุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 227, 228 และ 247 กรณีมิได้ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 234 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่จำเลยจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แต่อย่างใด เพราะกรณีนี้อยู่ในชั้นตรวจคำคู่ความ การที่จำเลยไม่ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในเวลา 3 วัน ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 18 วรรคสอง หาทำให้จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้ทำมาใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 วรรคท้าย ไม่

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้