นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  3021 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม - ทนายนิธิพล

          ตามบทบัญญัติ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้คุ้มครองลูกจ้าง ซึ่งหากเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างอาจเรียกร้องการชดเชยจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ รวมถึงกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย

          ทั้งนี้ หากเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร กล่าวคือ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

             (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

             (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

             (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

             (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

             (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

             (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

          ซึ่งหากนายจ้างไม่ได้เลิกจ้างเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังที่กล่าวมานี้หรือเลิกจ้างเพราะเหตุดังที่กล่าวมานั้นและลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามเหตุผลที่ถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด (ขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้าง ต้องทำงานตั้งแต่ 120 วันขึ้นไปถึงจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชย) และอาจมีค่าชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพิ่มเติม และหากนายจ้างไม่ได้แจ้งล่วงหน้าในการเลิกจ้างล่วงหน้าก่อน 1 เดือน ก็ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยจากการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 1 เดือนด้วย

          ลูกจ้างอาจใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเอง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

             1. ร้องเรียนเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นไปยังพนักงานตรวจสอบแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายในหมวด14

             2. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ซึ่งสำนักงานของนายจ้างอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้น โดยจะไปติดต่อขอให้นิติกรที่ศาลแรงงานดำเนินการร่างคำฟ้องยื่นฟ้องให้ในเบื้องต้นก็ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถเจรจากันในศาลได้จนถึงขั้นต้องการสืบพยานในศาลแรงงาน ก็ควรที่จะว่าจ้างทนายความเพื่อช่วยเหลือคดีต่อไป หรือจะว่าจ้างทนายในการทำเรื่องฟ้องตั้งแต่ต้นก็สามารถทำได้ เพราะจะทำให้แนวทางการต่อสู้คดีมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ทนายความจะเข้ามาทำคดีก่อนวันสืบพยาน ซึ่งแนวทางคำฟ้องกับแนวการสู้คดีอาจไม่สอดคล้องกัน

 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2561 ที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก ไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุนในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้นมีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่นๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้