Last updated: 6 ส.ค. 2565 | 11207 จำนวนผู้เข้าชม |
ขั้นตอนการดำเนินแจ้งความในคดีอาญา
เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ก็จะมีการเริ่มดำเนินคดีเกิดขึ้น โดยการดำเนินคดีนั้นจะมีการแยกเป็น “การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ” และ “การดำเนินคดีอาญาโดยราษฎร”
การดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ แยกได้เป็น 2 ประเภท คือ คดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว (ยอมความได้) และคดีอาญาแผ่นดิน (ยอมความไม่ได้)
1. คดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ยักยอก หรือหมิ่นประมาท เป็นต้น รัฐไม่สามารถที่เริ่มดำเนินคดีได้เอง เนื่องจากการเริ่มดำเนินคดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะต้องมีการร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด พนักงานสอบสวนจึงจะมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 “พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ”
เมื่อพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ทั้งนี้การร้องทุกข์นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 หมายความถึง “การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ”
ดังนั้น การแจ้งความร้องทุกข์นั้น ต้องมีเจตนาที่จะเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิดด้วย หากการแจ้งความร้องทุกข์เป็นเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานหรือเพียงลงบันทึกประจำวัน กรณีนี้ถือว่าไม่เป็นการร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะสามารถดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ทั้งนี้ในความผิดต่อส่วนตัว หากไม่ได้มีการร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีเป็นอันขาดอายุความ
ซึ่งการแจ้งความร้องทุกข์นั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ เมื่อท่านไปติดต่อที่โรงพัก ท่านควรเตรียมเอกสารต่างๆที่จำเป็นติดตัวไปด้วย เช่น ผู้เสียหายจะต้องเตรียมหลักฐานไปด้วย ซึ่งแต่ละความผิดก็จะเป็นหลักฐานที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้หากได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการให้สั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง
2. คดีที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน รัฐสามารถดำเนินคดีได้เองโดยลำพังไม่ว่าจะมีคำร้องทุกข์กล่าวโทษจากบุคคลใดหรือไม่ก็ตาม โดยพนักงานสอบสวนสามารถเริ่มทำการสอบสวนได้เอง ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติ มาตรา 121 วรรค 1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ในการดำเนินคดีอาญาในชั้นนี้ก็จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิของผู้ต้องหาและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ เช่น บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามหมายเรียกและหมายอาญา การจับกุม การขัง และการค้น รวมถึงบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและขั้นตอนรวมทั้งวิธีการสอบสวน
ทั้งนี้เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จสิ้นก็จะสรุปสำนวนทำความเห็นเสนอพนักงานอัยการต่อไป พนักงานอัยการที่รับสำนวนมาก็จะทำความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี หากพนักงานอัยการสั่งรับฟ้อง คดีก็จะขึ้นสู่ศาลต่อไป
ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลในคดีอาญา
1.) ยื่นฟ้อง (ผู้เสียหาย / พนักงานอัยการ) กรณีผู้เสียหายฟ้องคดีเอง ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคลที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”
ซึ่งผู้เสียหายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย คือ ต้องเป็นผู้ที่มิได้มีส่วนรู้เห็น หรือมีส่วนกระทำความผิดด้วย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ผู้ที่จะมาขอพึ่งบารมีแห่งความยุติธรรมต้องมาด้วยมืออันบริสุทธิ์”
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2522 โจทก์จ้างจำเลยถางป่าผิดประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 แม้จำเลยหลอกลวงเอาเงินค่าจ้างโจทก์ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะร่วมกระทำผิดกับจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550 ขณะเกิดเหตุ เวลา 5.30 นาฬิกา ท้องฟ้งยังมืด บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าข้างฟุตบาทและที่ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งอยู่กึ่งกลางถนน ผู้ขับรถผ่านบริเวณนั้นยังต้องเปิดไฟหน้ารถ ซึ่งโดยสภาพไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ไกลเท่ากับเวลากลางวัน สภาพของถนนที่มีทางเดินรถฝั่งละ 3 ช่องเดินรถในเวลาเกิดเหตุเป็นตอนเช้ามืดของวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ รถที่แล่นบนถนนน่าจะน้อยกว่าวันปกติ ซึ่งทำให้ผู้ขับรถสามารถขับรถได้เร็วขึ้นกว่าวันปกติ ถนนบริเวณเกิดเหตุเป็นทางตรง การข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งต้องข้ามถนนถึง 6 ช่องเดินรถ ซึ่งรถที่แล่นไปมาในขณะนั้นน่าจะใช้ความเร็วสูงในสภาพเช่นนั้น ดังนั้น ผู้ตายควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการข้ามถนน เนื่องจากเป็นถนนใหญ่มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืน ซึ่งผู้ขับรถอาจไม่เห็นคนข้ามถนนในระยะไกลที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้ ตรงจุดที่ผู้ตายข้ามถนนมีรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ของสามีผู้ตายบังอยู่อันอาจทำให้จำเลยไม่สามารถเห็นผู้ตายได้ในระยะไกล แต่เห็นในระยะกระชั้นชิดจึงไม่สามารถหักรถหลบหรือหยุดรถได้ทันเป็นเหตุให้ชนผู้ตาย ดังนั้น การที่ผู้ตายข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงนับว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 3 (2)
2.) ไต่สวนมูลฟ้อง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 162 “ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้
(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)
(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้
ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา”
จะเห็นได้ว่า คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน เนื่องจากคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ จะไม่มีการสอบสวนความผิดนั้นก่อนเหมือนกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ที่มีการสอบสวนความผิดโดยพนักงานสอบสวนมาก่อนแล้ว ซึ่งหากไต่สวนแล้วคดีมีมูลศาลจึงจะประทับรับฟ้องคดี แล้วดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล ก็จะพิพากษายกฟ้อง ซึ่งราษฎรที่เป็นโจทก์ก็อาจอุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษานั้นได้ต่อไป
3.) นัดสอบคำให้การจำเลย เมื่อจำเลยมาศาลแล้ว ศาลจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไร ถ้าจำเลยปฏิเสธก็จะมีการนัดสืบพยานต่อไป
4.) นัดตรวจพยานหลักฐาน (กรณีมีพยานหลักฐานมา)
5.) นัดสืบพยาน โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อน ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจำเลยนำพยานหลักฐานสืบแก้ เมื่อสืบพยานเสร็จ ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป
6.) นัดฟังคำพิพากษา ในการตัดสินคดีศาลจะวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งปวงในคดี พยานหลักฐานของโจทก์ว่าสามารถฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง โดยปราศจากข้อสงสัยอันสมควรยกฟ้อง และอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย
Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์
เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.
เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145
9 ส.ค. 2567
30 ก.ค. 2567
21 ส.ค. 2567