การดำเนินคดีข่มขืนกระทำชำเรา - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  17456 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดำเนินคดีข่มขืนกระทำชำเรา - ทนายนิธิพล

          ปัญหาสังคมในปัจจุบันที่มักจะเกิดบ่อยหรือที่เรียกว่าแทบจะมีปัญหานี้อยู่ทุกวัน ซึ่งก็ได้แก่ การข่มขืน ตั้งแต่อดีตที่เหยื่อส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ การข่มขืนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

          อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ได้มาจากเฉพาะบุคคลแปลกหน้าเท่านั้น แต่ที่เห็นในข่าวหรือมักเห็นได้บ่อยก็มักจะมาจากบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด บุคคลที่มีความน่าใจไว้ใจมากกว่าคนแปลกหน้าเสียอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลในแง่ลบต่อเหยื่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการเยียวยา หรือบางกรณีก็ไม่สามารถที่จะเยียวยาผู้เสียหายได้ เนื่องจากสภาพร่างกายถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมากจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ ซึ่งในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงบทนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราตามธรรมชาติและสอดคล้องกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน และได้แก้ไขให้เป็นความผิดที่ยอมความได้บางกรณีเท่านั้น

          ลักษณะใดที่จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

          พิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

          การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้”

          โดยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม มาตรา 276 วรรค 1 นั้นเราสามารถแยกองค์ประกอบได้ ดังนี้

             1. ข่มขืนกระทำชำเรา

             2. หญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน

             3. โดยวิธีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

               - โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ

               - โดยใช้กำลังประทุษร้าย

               - โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือ

               - โดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา

             คำพิพากษาฎีกาที่ 2413/2520 จำเลยเอาของลับใส่เข้าไปในของลับของผู้เสียหาย อายุ 13 ปี 11 วัน ดันโดยแรง ผู้เสียหายรู้สึกว่าของลับของจำเลยเข้าไปลึกขนาดช่วงนิ้วมือนั้น ดังนี้ของลับจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในของลับของผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จหาจำเป็นจะต้องมีรอยฉีกขาดที่ช่องคลอดปากมดลูกหรือที่เยื่อพรหมจารีด้วยไม่

             คำพิพากษาฎีกาที่ 1133/2509 จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายจนของลับของจำเลยได้เข้าไปในของลับของผู้เสียหายรวม 1 องคุลี เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำชำเราสำเร็จตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 แล้ว การที่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีน้ำอสุจิของจำเลยออกมาอยู่ที่ของลับของผู้เสียหายนั้น เป็นเรื่องสำเร็จความใคร่แล้วหรือไม่เป็นอีกส่วนหนึ่งไม่เป็นเหตุให้เห็นว่าจำเลยกระทำชำเราไม่สำเร็จหรือเป็นเพียงขั้นพยายาม

          เมื่อมีการข่มขืนเกิดขึ้นผู้เสียหายควรรีบไปแจ้งความโดยทันทีพร้อมตรวจร่างกาย ซึ่งคดีข่มขืนนั้น พยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญ หากได้ไปแจ้งความและตรวจร่างกายโดยเร็วพยานหลักฐานจะยังคงอยู่ หรือสามารถสอบถามหรือปรึกษาทนายความก่อนดำเนินการแจ้งความได้

          ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ใช่คดียอมความได้

          เนื่องจากความผิดทางอาญา มี 2 ประเภท คือ ความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดที่ยอมความได้) กับ ความผิดต่อแผ่นดิน (ความผิดที่ยอมความไม่ได้)

          ในอดีตก่อนมีการแก้ไขกฎหมายความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 ได้ถูกกำหนดให้เป็นความผิดที่ยอมความได้เหมือนพวกความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกง ดังนั้นในอดีตหากผู้เสียหายคดีข่มขืนไม่แจ้งความร้องทุกข์ แม้ตำรวจมีหลักฐานใดๆก็ไม่อาจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ หรือแม้ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่เกิน 3 เดือน กฎหมายก็ไม่อาจลงโทษผู้กระทำความผิดข่มขืนได้เช่นกัน เพราะในความผิดต่อส่วนตัว(ยอมความได้) ผู้เสียหายจะต้องมีการร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นหากพ้น 3 เดือนไปแล้ว พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาไม่ได้เพราะถือว่าคดีขาดอายุความแล้ว

             คำพิพากษาศาลฎีกา

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีหรือใช้อาวุธตามมาตรา 276 วรรค 2 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดเพียงข่มขืนกระทำชำเราโดยไม่มีอาวุธตามมาตรา 276 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ ในคดีนี้ผู้เสียหายได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อความผิดนี้เป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายแจ้งความไว้แค่เป็นหลักฐานไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ที่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนคดีนี้จึงมิชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงยกฟ้อง

          ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญาโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่27) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นผลทำให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยผลของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่มาตรา 281 ที่คงเหลือให้เป็นความผิดยอมความได้เฉพาะการข่มขืนระหว่างคู่สมรสของตนในบางพฤติการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

          ตามมาตรา 281 ความผิดตามมาตราดังต่อไปนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

             (1) ถ้าเป็นกรณีข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง หรืออนาจารที่เทียบเท่าข่มขืน ตามมาตรา 278 วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส ดังนั้น จะเห็นได้ว่าถ้าหากข่มขืนบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนนั้นจะไม่สามารถยอมความได้ และนอกจากนี้ ต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย

             (2) ถ้าเป็นกรณีกระทำอนาจารตามมาตรา 278 วรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ต้องได้รับการปกป้องตามมาตรา 285 หรือมาตรา 285/2

          ดังนั้น เมื่อตีความตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ สรุปได้ว่าการข่มขืนกระทำชำเราหรือใช้สิ่งอื่นใดกระทำ ถ้ากระทำระหว่างสามีภริยา และไม่ได้กระทำต่อธารกำนัล และผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ก็สามารถยอมความได้ แต่หากข่มขืนคนอื่นที่ไม่ใช่สามีภริยาจะยอมความไม่ได้อีกต่อไป เพราะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน (ยอมความไม่ได้) แล้ว และเมื่อความผิดข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้เหมือนแต่ก่อนที่ผู้เสียหายไม่จำต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ เช่นนี้พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เอง อีกทั้งพนักงานสอบสวนจะไปไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันไม่ได้แล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกา

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15913/2557 โจทก์บรรยายฟ้องในคำฟ้องอ้างเหตุที่เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะเป็นการโทรมหญิงเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าธารกำนัล แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แสดงว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล และเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังไม่ได้ว่าการร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม คงเป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ย่อมตกลงยอมความกันได้ตามมาตรา 281 เมื่อมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)

          กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กยินยอม ผู้ปกครองสามารถเรียกค่าเสียหายได้

          เนื่องจากการกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้น กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองพิเศษ โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรค 1 ไว้ว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท” จะเห็นได้ว่า ถึงแม้เด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายจะได้ให้ความยินยอมก็ตาม การกระทำชำเราเด็กก็ถือเป็นความผิดทางอาญาอยู่ และยังเป็นการละเมิดที่ทำให้ผู้ปกครองของเด็กนั้นสามารถที่จะเรียกค่าเสียหายได้

          และหากการกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้น มีลักษณะเป็นการพาผู้เยาว์ไป หรือได้มีลักษณะที่สั่งให้ผู้เยาว์ไป เพื่อกระทำชำเรานั้น ก็จะมีความผิดเป็นการพรากผู้เยาว์เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อไปอนาจารด้วยตาม มาตรา 317 วรรค 3  ดังนั้นหากมีการพรากผู้เยาว์ไปกระทำชำเราแล้ว แม้ผู้เยาว์จะให้ความยินยอมให้กระทำก็ตาม ผู้ปกครองก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้

          คำพิพากษาศาลฎีกา

          คำพิพากษาฎีกาที่ 9797/2550 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรค 1 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ.... แสดงว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กเป็นพิเศษ โดยไม่ให้ความสำคัญกับความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียจะยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้เสียหายจึงยังไม่สิ้นสิทธิในการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย ส.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าควาทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้