ตำรวจไม่รับแจ้งความทำอย่างไร - ทนายนิธิพล

Last updated: 12 ส.ค. 2565  |  33345 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตำรวจไม่รับแจ้งความทำอย่างไร - ทนายนิธิพล

          การแจ้งความนั้นกฎหมายไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ แต่โดยปกติแล้ว การแจ้งความหลักๆจะมีอยู่ 2 กรณี คือ

              1.) การแจ้งความร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7)   “คำร้องทุกข์” หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

             โดยบุคคลที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้จะต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 เพราะหากไม่ใช่ผู้เสียหายตาม มาตรา 2 (4) ก็จะไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์

             2.) การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน การแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความลงไปในรายงานประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ใช่การมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการร้องทุกข์ เพราะไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ เป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นการแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน ตำรวจจะไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปได้

 

          สาเหตุที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ

          สาเหตุที่ตำรวจไม่รับแจ้งความอาจมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างที่สามารถพบเจอได้บ่อย คือ

             - ผู้แจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ผู้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้ต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) หากผู้แจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด กฎหมายไม่อนุญาตให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ตำรวจจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธหรือไม่รับคำร้องทุกข์นั้นได้

             หลักเกณฑ์ของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4)

             1. ต้องมีการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น

             2. ผู้เสียหายต้องเป็นบุคคล

             3. บุคคลนั้นต้องได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานนั้น

             4. บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

             - แจ้งความร้องทุกข์ไม่ถูกต้องตามระเบียบ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วในความหมายของการแจ้งความร้องทุกข์ว่าการร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีอาญานั้น ผู้ที่แจ้งต้องแจ้งโดยมีวัตถุประสงค์ให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หากไม่มีการระบุเจตนานี้ลงไป จะไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามระเบียบ ทั้งนี้เมื่อการแจ้งความนั้นไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ หากความผิดนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ตำรวจก็ไม่มีอำนาจที่จะสืบสวนหรือสอบสวนเพื่อทำสำนวนส่งอัยการให้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลได้

              ดังนั้น เมื่อเราไปแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ควรตรวจสอบเสมอว่าข้อความที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไว้ให้เรานั้น มีข้อความที่แสดงถึงเจตนาว่าเราต้องการให้ตำรวจนำตัวผู้ที่กระทำความผิดมารับโทษหรือไม่ ถ้าไม่มีการระบุถึงเจตนานี้ การแจ้งความของเรานั้นจะเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันธรรมดาเท่านั้น หากความผิดนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่เรารู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีจะขาดอายุความ

             - การแจ้งความในคดีแพ่ง เนื่องจากการจะแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีอาญานั้น การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น หากเป็นความเสียหายที่เกิดจากทางแพ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิดทางแพ่งนั้นได้ เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง แต่ในคดีแพ่งนั้นสามารถแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้ ซึ่งคดีแพ่งนั้นต้องไปว่าจ้างทนายความทำเรื่องฟ้องต่อศาลเท่านั้น

             - พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง ในกรณีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ถูกต้องแล้ว กล่าวคือ ผู้ร้องทุกข์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และได้มีการร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) แล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งสามารถดำเนินคดีกับตำรวจที่ไม่รับแจ้งความได้ หรือสามารถร้องเรียนการที่ไม่รับแจ้งความนั้นต่อผู้กำกับในสถานีตำรวจนั้น สำนักงานจเรตำรวจ ศูนย์ดำรงธรรมได้ หรือในกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความยุ่งยาก เจ้าพนักงานตำรวจก็มักจะไม่รับแจ้งความ ก็ควรที่จะทำคำร้องทุกข์พร้อมหลักฐานไปยื่นต่อตำรวจ โดยจะร่างขึ้นเองหรือว่าจ้างนักกฎหมายร่างให้ก็ได้ ซึ่งก็มีโอกาสที่เจ้าพนักงานตำรวจจะรับแจ้งความมากยึ่งขึ้น

           หากคุณต้องการทำเรื่องฟ้องต่อศาลเองหรือไม่ผ่านตำรวจหรือให้สำนักงานร่างคำร้องทุกข์เพื่อยื่นต่อสถานีตำรวจสามารถติดต่อสำนักงานทนายนิธิพล ทางช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางสำนักงานยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลคดีของคุณ

 

          คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2530 การร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อบันทึกการแจ้งความมีข้อความแสดงชัดว่า ในขณะที่แจ้งโจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย ซึ่งถือว่าไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย การที่โจทก์มาฟ้องคดีเองในภายหลัง ก็หามีผลให้คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ โจทก์แจ้งความว่า จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมายและโจทก์ประสงค์ขอรับเช็คของกลางคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับจำเลยและผู้เกี่ยวข้องในทางศาลเองต่อไป โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแต่อย่างใด ดังนี้แม้แจ้งความดังกล่าวมีข้อความว่า มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อความต่อไปว่าโจทก์ขอรับเช็คคืนเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเอง จึงเห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย การแจ้งความดังกล่าวจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555 กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ...” ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2557 การที่โจทก์ร่วมไปหาจำเลยที่ห้องพักซึ่งแม้จะได้ความตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมรบกวนการครอบครองห้องพักโดยปกติสุขของจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้บอกให้จำเลยกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนร่วมหรือก่อให้เกิดการกระทำความผิด อันจะเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531 การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2533 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หมายถึง หน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่โดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานที่ศาลไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้