การถูกเผยแพร่คลิปลับภาพโป๊ เอาผิดอย่างไร - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  24272 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การถูกเผยแพร่คลิปลับภาพโป๊ เอาผิดอย่างไร - ทนายนิธิพล

          ทุกวันนี้หลายคนใช้เวลาในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในโลกออนไลน์นั้นมีการสื่อสารได้รวดเร็วกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก แต่ทว่าในโลกออนไลน์ก็ทำให้พบปะกับผู้คนแปลกหน้าได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้สถิติการล่วงละเมิด คุกคามทางเพศ ตลอดจนคดีอาชญากรรมทางเพศในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังเช่น "สื่อลามกอนาจารเด็ก" ที่มีการเผยแพร่อยู่ในโลกออนไลน์ มีทั้งในรูปแบบที่ปล่อยให้รับชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการตั้งกลุ่ม-ชุมชนขึ้นมา เพื่อซื้อขายสื่อเหล่านั้นโดยเฉพาะ

          นอกจากนี้ ยังมีบางคนที่นิยมบันทึกภาพเปลือยของตนเอง หรือภาพขณะมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับคนรักเพื่อเก็บไว้ โดยมักจะบันทึกไฟล์ภาพหรือคลิปไว้ในโทรศัพท์มือถือหรือในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาพบว่าภาพหรือคลิปดังกล่าวได้ไปปรากฏอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเจ้าของภาพหรือคลิปนั้นไม่ยินยอม สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการทำโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์นั้นๆสูญหาย , ถูกไวรัสคอมพิวเตอร์ (Malware) โจมตี , การนำไปซ่อมหรือขายต่อให้บุคคลอื่น , ถูกบุคคลอื่นหลอกให้ส่งภาพหรือคลิปให้ และอีกสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ผู้ที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวนั้นเป็นอดีตคนรักนั่นเอง เนื่องจากอาจมีการทะเลาะกันหรือมีปากเสียงกัน จนมีความเจ็บแค้นต่อกัน ภาพหรือคลิปที่อัดไว้เพื่อเก็บไว้ดูเองไม่ได้ต้องการที่จะนำมาเผยแพร่ ก็อาจโดนนำมาเผยแพร่ภายหลัง เพื่อโจมตี ข่มขู่ รีดเอาเงิน หรือเอามาทำลายชื่อเสียงกันและกัน

          อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปลับ ซึ่งเป็นคลิปลามกอนาจารนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

             มาตรา 14  ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

             (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

             (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

             (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

             (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

             (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

          จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 14 (4) ได้นั้นก็ต่อเมื่อได้มีการเผยแพร่ข้อมูลอันมีเนื้อหาลามกอนาจารและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ว่านั้นได้ ซึ่งคลิปลับถือเป็นคลิปที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร และหากเป็นการเผยแพร่ที่มีข้อมูลดังกล่าวออกไป แต่หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหานั้นได้ก็จะไม่ต้องเกณฑ์ความผิดตามมาตรา 14 (4) อีกทั้งหากมีการเผยแพร่คลิปลับไปแล้ว แล้วต่อมามีบุคคลอื่นได้นำคลิปนั้นไปเผยแพร่หรือส่งต่อโดยที่รู้อยู่แล้วว่าคลิปนั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (4) บุคคลนั้นก็จะมีความผิดตามมาตรา 14 (5) ด้วย แต่บุคคลที่จะมีความผิดตามมาตรา 14 (5) จะต้องกระทำความผิดครบองค์ประกอบสองอย่าง คือ 1. เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ2. โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) หมายความว่าในการดำเนินการเอาผิดคนที่โพสต์หรือแชร์ข้อความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) (2) (3) หรือ (4) เสียก่อน และต้องพิสูจน์ “เจตนา” ของผู้กระทำความผิดให้ได้ คือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า รู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดแต่ก็ยังเผยแพร่หรือส่งต่อ และหากพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆก็อาจจะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เนื่องจากขาดเจตนา

          ดังนั้น ผู้ที่เผยแพร่คลิปลับทางอินเทอร์เน็ตของบุคคลอื่น หรือผู้ที่ได้เผยแพร่หรือส่งต่อคลิปลับนั้นโดยที่รู้อยู่แล้วว่าคลิปนั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (4) จะมีความผิดตามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (4) , (5)

 

          คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

 

          ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่

          ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่จะสามารถยอมความได้ ต้องเป็นความผิดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้กระทำต่อประชาชน เช่น ส่งให้แก่คนใดคนหนึ่งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นความผิดอันยอมความได้ และมีโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในมาตรา 14 นี้ เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เนื่องจาก มาตรา 14 (4) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้” เป็นลักษณะที่มีการเผยแพร่คลิปลับนั้นให้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ กรณีนี้ถือเป็นการกระทำต่อประชาชน ไม่ใช่กระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ความผิดตามมาตรานี้ จึงไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว (ยอมความไม่ได้) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

          นอกจากเนื้อหาที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ผู้กระทำการเผยแพร่ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 287 และในเรื่องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

             ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287  "ผู้ใด

             (1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก

             (2) ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจกหรือแสดงอวดแก่ประชาชน หรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น

             (3) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใดๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือโฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุ หรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด

             ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ทั้งนี้ การส่งภาพลามกอนาจาร ภาพโป๊ เปลือย ไปให้เว็ปไซต์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการที่ได้เผยแพร่คลิปลับของบุคคลอื่นนั้น การกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ยังถือเป็นการเผยแพร่ภาพลามก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ด้วย

          ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          ซึ่งการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หมายถึง การกระทำใดๆที่ให้ข้อเท็จจริงนั้นแพร่หลายไปยังบุคคลภายนอกในลักษณะวงกว้าง และเป็นความผิดสำเร็จทันที  ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางไหนก็ตาม เช่นทางหนังสือพิมพ์ ทางออนไลน์ หรือการติดประกาศ

          นอกจากนี้ หากการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ทำให้ผู้เสียหายสูญเสียรายได้ หรือเสียชื่อเสียง สามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ที่ระบุว่า

             มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

             ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

 

          คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599/2530 จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความอันมีมูล เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แล้วหนังสือพิมพ์นำข้อความนั้นไปลงพิมพ์ โฆษณา ดังนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือ ยุยงส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ไปลงพิมพ์ การที่หนังสือพิมพ์นำข้อความ นั้นไปลงพิมพ์จึงเป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะ คดีโจทก์ ไม่มีมูลความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2531 จำเลยเป็นประธานสหภาพแรงงานยาสูบ เป็นผู้เขียนบทความลงในเอกสารสหภาพแรงงานยาสูบ โฆษณาเผยแพร่ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการยาสูบว่า โจทก์เป็นผู้อำนวยการยาสูบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดสติปัญญาความสามารถในการบริหารงาน เป็นผู้มีเจตนาทำลายศีลธรรมอันดีของพนักงานยาสูบ สร้างสถานการณ์สับสนวุ่นวายเพื่อให้เกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ทำลายระเบียบแบบแผนขั้นตอนในการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม สมรู้ร่วมคิดกับสมุนเลวร้ายให้พนักงานบรรจุใหม่กระโดดข้ามหัวหน้างานเก่า สนับสนุนพวกที่ได้รับโทษทางวินัยขึ้นมาเสวยอำนาจเพื่อป้องกันการซัดทอดคอร์รัปชั่นให้พ้นตัว ไม่มีจิตสำนึกเห็นความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สหภาพแรงงานยาสูบกำลังถูกอำนาจป่าเถื่อนกลั่นแกล้งข่มขู่ลิดรอนอำนาจและหาทางกลั่นแกล้งพนักงานยาสูบ บกพร่องในหน้าที่ปล่อยให้ผลประโยชน์ของโรงงานยาสูบรั่วไหลอยู่ในมือพ่อค้า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง กรณีที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้กระทำโดยการโฆษณา ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้เหตุที่ต้องรับโทษหนักขึ้นไว้ในมาตรา 328 นั้น เป็นการลำดับการลงโทษเป็นขั้นๆตามลักษณะฉกรรจ์ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายบท ตามมาตรา 90

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2554 ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเป็นความผิดอันยอมความได้หรือเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์โดยชอบแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหานี้จึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)

          การที่จำเลยส่งเอกสารที่มีข้อความประณามว่าโจทก์ร่วมมีชู้และพฤติกรรมทางเพศของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายเปลือยกายของโจทก์ร่วม ภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงการร่วมเพศของโจทก์ร่วมกับจำเลยอันเป็นสิ่งลามกทางไปรษณีย์ไปยังราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นการทำให้แพร่หลายโดยมีเจตนาเพื่อการแจกจ่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามก แม้ราษฎรในหมู่บ้านที่เกิดเหตุได้รับเอกสาร รวมทั้งภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงจะไม่ได้อ่านเอกสารหรือดูภาพถ่ายหรือฟังแถบบันทึกเสียง ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งลามก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 (1)

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้