นำรูปของคนอื่นไปใช้ในทางการค้าหรือหาประโยชน์ผิดลิขสิทธิ์ - ทนายนิธิพล

Last updated: 12 ส.ค. 2565  |  39365 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นำรูปของคนอื่นไปใช้ในทางการค้าหรือหาประโยชน์ผิดลิขสิทธิ์ - ทนายนิธิพล

          พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ และสิทธิของนักแสดง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภทที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้แสวงหาผลประโยชน์จากงานนั้น ซึ่งในพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์เดิมไม่ได้ระบุโทษชัดเจนสำหรับพฤติกรรมความผิดการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต แต่ในพระราชบัญญัตินี้กำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน

          จะเห็นได้ว่าการนำรูปไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรูปภาพจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งการที่ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลต่างๆนำภาพหรือวิดีโอที่ได้จากการค้นหาใน Google หรือ บริการเว็บไซต์ค้นหาอื่นๆ หรือนำรูปบุคคลมาตัดชื่อเครดิตออก เพื่อแอบอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองหรือนำภาพหรือคลิปวิดีโอไปใช้ในทางการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องร้องผู้แอบอ้างได้ โดยหากผู้ใช้โซเชียลที่เป็นบุคคลธรรมดานำภาพไปโพสต์ต่อโดยยังให้เครดิตเจ้าของภาพอยู่ถือว่าไม่มีความผิด แต่หากเป็นนิติบุคคล อาจจะมีความผิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จึงควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนจะนำภาพไปใช้

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำผิดมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์หรือศาลอาจสั่งให้ทำลาย โดยผู้ละเมิดต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำลาย

 

             ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียว ดังต่อไปนี้

             (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

             (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

             (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์และสิ่งบันทึกเสียง

             (4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

             (5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

             มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
             (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

             (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

             มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

             (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

             (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

             (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

             มาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้

             (1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

             (2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

             (3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า

             มาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้

             (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

             (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

             (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

             มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

             (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ

             (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

             (3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์

             (4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

             มาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

             ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551

                โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานที่นำภาพการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ในทางการค้าลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลป์ประยุกต์ กล่าวคือ เป็นงานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามคำว่า "งานศิลป์ประยุกต์" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งตามมาตรา 22 บัญญัติไว้ว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลป์ประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก งานของผู้เสียหายมีการโฆษณางานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2512 งานดังกล่าวจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป

              หากคุณต้องการทำเรื่องฟ้องต่อศาลหรือให้สำนักงานร่างคำร้องทุกข์เพื่อยื่นต่อสถานีตำรวจสามารถติดต่อสำนักงานทนายนิธิพล ทางช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางสำนักงานยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและดูแลคดีของคุณ

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้