ลูกจ้างทำผิด นายจ้างเตือนแล้วแต่ยังทำผิดอีก สามารถไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  11344 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลูกจ้างทำผิด นายจ้างเตือนแล้วแต่ยังทำผิดอีก สามารถไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ - ทนายนิธิพล

          เมื่อลูกจ้างทำผิดในการทำงานโดยไม่ใช่กรณีร้ายแรง เช่น ผิดระเบียบที่ได้กำหนดไว้แล้วของนายจ้าง นายจ้างจะต้องมีการเตือนเป็นหนังสือแก่ลูกจ้างก่อน หากลูกจ้างยังคงกระทำความผิดเช่นเดิมตามที่เคยได้เตือนไว้แล้ว นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างแต่อย่างใด

          แต่หากยังไม่ได้มีการเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน หรือลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดในแบบเดิมที่เคยได้มีการออกหนังสือเตือน หากมีการเลิกจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุงาน ดังนี้

          ·       ลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย

          ·       ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย


          ตามมาตรา 119 ได้บัญญัติยกเว้นให้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

          (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

          (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

          (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

          (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

          (5) ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

          (6) ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก



          ซึ่งเนื้อหาตามบทความนี้เป็นไปตาม มาตรา 119 (4) ที่กำหนดให้นายจ้างที่ได้มีหนังสือเตือนให้แก่ลูกจ้างแล้วในความผิดตามระเบียบการทำงานดังกล่าว (เว้นแต่เป็นกรณีร้ายแรงที่ไม่ต้องมีหนังสือเตือนก่อน) แล้วยังกระทำความผิดนั้นซ้ำอีก ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างได้ แต่หนังสือเตือนดังกล่าวมีกำหนดเวลา 1 ปี ที่จะนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้


          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2537

          การฝ่าฝืนข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานนั้นหมายถึง ในกรณีที่นายจ้างได้เตือนลูกจ้างแล้วลูกจ้างยังฝ่าฝืนกระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เรื่องการลาป่วยผิดระเบียบ มิใช่เตือนเรื่องขาดงานต่อมาโจทก์ขาดงานจึงถือไม่ได้ว่ากระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย

 


ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้