Last updated: 26 ต.ค. 2564 | 4855 จำนวนผู้เข้าชม |
แม้จดทะเบียนสมรสกันภายหลังก็สามารถฟ้องชู้ได้
ซึ่งโดยปกติแล้วสิทธิตามกฎหมายระหว่างสามีภริยาจะเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองคนได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพียงแค่การอยู่กินเฉยๆหรือเพียงแต่การแต่งงานเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น ถ้าหากไม่มีการจดทะเบียนสมรสก็เท่ากับว่าไม่มีสิทธิกันตามกฎหมาย ไม่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถฟ้องชู้ได้
กรณีที่จดทะเบียนสมรสกันภายหลังที่จะสามารถฟ้องชู้ได้ ต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสฝ่ายที่มีชู้ยังคงคบชู้นั้นต่อ ยังคงมีความสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นชู้ต่อทั้งที่ตนได้จดทะเบียนสมรสไปเรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่าง นางสาวแดงอยู่กินกับนายดำเป็นเวลา10ปี แต่ในระหว่างนั้นนายดำได้แอบมีชู้กับนางสาวม่วง ต่อมานางสาวแดงจับได้ว่านายดำมีชู้ กับนางสาวม่วง ถัดมา 2 ปี นางสาวแดงจึงไปจดทะเบียนสมรสกับนายดำซึ่งภายหลังจดทะเบียนสมรสกันนายดำและชู้ก็ไม่ได้เลิกกันทั้งที่รู้ว่านายดำได้จดทะเบียนสมรสแล้ว ยังคงมีความสัมพันธ์กันเรื่อยมา โดยนางแดงไม่ยินยอมให้คบชู้แต่อย่างใด และขอให้ทั้งคู่เลิกขาดจากกัน แต่นายดำกับนางสาวม่วงยังคบชู้กันต่อ กรณีนี้ นางสาวแดงสามารถฟ้องนางสาวม่วงเรียกค่าทดแทนได้
แต่ถ้าหากฝ่ายชู้ทราบว่าฝ่ายหญิงหรือชายได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วนั้น ต่อมาได้หยุดพฤติกรรมเป็นชู้ คู่สมรสอีกฝ่ายนั้นก็จะไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากชู้ได้
ดังนั้นหากต้องการจะฟ้องชู้ หลักฐานที่ใช้ในการฟ้องชู้ อาจจะต้องใช้หลักฐานใหม่ ที่ฝ่ายคู่สมรสกับฝ่ายชู้ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเปิดเผยต่อสาธารณะชน หลังจากที่จดทะเบียนสมรสกันเรียบร้อยแล้ว