Last updated: 9 มิ.ย. 2566 | 67120 จำนวนผู้เข้าชม |
สามีเสียชีวิต มีลูก 1 คน และแม่สามี ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่ง สามีมีบ้าน รถ และเงินธนาคารจำนวนหนึ่ง ซึ่งไปติดต่อกรมที่ดินแล้ว ไม่สามารถทำการเปลี่ยนชื่อในโฉนดได้ ให้ไปร้องต่อศาล ดิฉันต้องทำยังไงดีค่ะ
ทนายความตอบ
เมื่อบุคคลที่ถึงแก่ความตาย มรดกของผู้ตายนั้นต้องตกทอดแก่ทายาท ถ้าไม่ได้มีการทำพินัยกรรมระบุไว้ว่าใครเป็นผู้รับมรดก ก็ต้องตกทอดแก่ทายาทตามสิทธิของกฎหมาย ซึ่งทายาทโดยที่มีสิทธิรับมรดก คือ 1. ผู้สืบสันดาน 2.บิดามารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน . 5 ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุงป้า น้า อา และ ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมด้วย จากกรณีที่ท่านสอบถามมาดังกล่าวข้างต้น ผู้มีสิทธิรับมรดกคือ ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาของผู้ตาย และบุตร ซึ่งทั้งสามคนมีส่วนในการรับมรดกเท่ากัน ดังนั้นสามารถให้คนใดคนหนึ่งร้องขอคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกในการแบ่งทรัพย์สินได้เลย
ในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ต้องดำเนินการดังนี้
1. ต้องดูว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะต้องตกเป็นมรดก ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้จะต้องมีการร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน
2. ต้องดูว่าใครเป็นทายาทผู้มีสิทธิในการรับมรดกครั้งนี้ และจะแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ ต้องเป็นบุคคลที่ทายาทด้วยกันยินยอม และ มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
3. ในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต้องเตรียมอะไรบ้าง
· บัตรประจำตัวประชาชน , ทะเบียนบ้าน ทั้งของผู้ยื่นร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และขอทายาทที่มีสิทธิรับมรดก และของผู้ตาย
· ใบมรณะบัตรของผู้ตาย
· ทะเบียนสมรสของผู้ตาย หรือใบทะเบียนสมรสของบิดามารดาของผู้ตาย หรือทะเบียนหย่า
· หนังสือรับความยินยอมจากทายาท
· เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน สมุดบัญชีธนาคาร ทะเบียนรถ
· แผนผังบัญชีเครือญาติ
· สูติบัตรของทายาท ( ในกรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ )
· ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
4. ในการฟ้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกจำเป็นที่ต้องมีทนายความเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ เนื่องจากทนายความมีความชำนาญ และหากเอกสารจำนวนมาก หรือ ทายาทจำนวนมากจะเป็นการยุ่งยากในการเรียบเรียงเอกสารและการร่างคำร้อง และหากมีทายาทมาคัดค้านจะได้ดำเนินการแทน ในการแก้ต่างในคดี และเพื่อความสะดวกของตัวท่านเอง
5. ขั้นตอนดำเนินคดีในชั้นศาล ศาลจะนัดวันไต่สวนคำร้องท่าน เพื่อที่จะได้ทราบว่าท่านสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ต่อมาถ้าไต่ส่วนคำร้องเสร็จสิ้นแล้ว ก็รอฟังคำพิพากษาได้เลย และถ้าหาก มีผู้คัดค้านในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของท่าน จะต้องมีการสู้คดีกันว่าบุคคลใด เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก หรือ ศาลสามารถตัดสินให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมาย
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145
30 ก.ค. 2567
21 ส.ค. 2567
9 ส.ค. 2567