ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ - ทนายนิธิพล

Last updated: 11 ส.ค. 2565  |  78600 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ - ทนายนิธิพล

             สอบถามทนายหน่อยค่ะว่า มีบุตรกับสามีแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันค่ะ แต่บุตรใช้นามสกุลสามี ตอนนี้สามีไม่ได้ส่งเงินให้ลูกแต่อย่างใด ภาระตกมาที่มารดาค่ะ แล้วปีหน้าบุตรจะเข้าโรงเรียนค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่ทราบว่าจะฟ้องค่าเลี้ยงดูได้ไหมค่ะ

             ทนายความตอบ

             ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

            มาตรา  1547  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

            มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

            มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหา

เลี้ยงตนเองมิได้

           ในกรณีที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากสามี ได้นั้น ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วย สามีและภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาของบุตรจึงไม่ได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เด็กที่เกิดจาก บิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  บุตรจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าหากต้องการจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรด้วยเพื่อให้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร จะต้อง มีการจดทะเบียนสมรสกันกับมารดาบุตรภายหลัง, หรือบิดาได้จดเบียนรับรองบุตร หรือในกรณีที่บิดามารดาของบุตรไม่ยินยอมให้จดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา 

         หลักเกณฑ์การฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ คือ

          1. ต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตร สำหรับในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถไปรับรองบุตรที่สำนักงานทะเบียนตามภูมิลำเนาได้ (กรณีที่พ่อแม่และลูกที่มีอายุพอจะให้ความยินยอมได้ 6-7 ขวบขึ้นไป) หรือฟ้องให้รับรองบุตรไปในคดีเดียวกันกับการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดุบุตรก็ได้โดยว่าจ้างทนายทำเรื่องฟ้องต่อศาลให้ โดยหลายคนมักเข้าใจผิดว่าการที่บุตรใช้นามสกุลของบิดา บิดาไปแจ้งเกิด หรือบิดาให้ลูกอยู่ในทะเบียนบ้าน เป็นการรับรองบุตร ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการรับรองบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานในการขอให้รับรองบุตรเท่านั้น ก่อนจะฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร ทนายจึงต้องตรวจสอบดูก่อนว่ามีการจดทะเบียนรับรองบุตรหรือไม่ ถ้ามีการจดทะเบียนรับรองบุตรกันแล้วนั้น ถึงจะสามารถเรียกค่าอุปการะค่าเลี้ยงดูบุตรได้ การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจะมีสิทธิเรียกได้ตั้งแต่มีการรับรองบุตรตามกฎหมาย หากไม่ได้มีการรับรองบุตรมาก่อนจะเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังไม่ได้ เพราะสิทธิที่พ่อของลูกต้องชำระค่าเลี้ยงดูบุตรยังไม่เกิด และหากมีการรับรองบุตรอยู่ก่อนแล้ว จะเรียกย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี

          2. การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงบุตรจะสามารถฟ้องค่าเลี้ยงดูเป็นรายเดือนหรือหากคู่ความตกลงกันว่าจะให้จ่ายเป็นก้อนเดียวก็สามารถทำได้ โดยสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะหรือจนกว่าจะเรียนจบในชั้นปริญญาตรี การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นคดีแพ่งที่จะต้องฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดที่ลูกมีภูมิลำเนา

          3. เมื่อให้ทนายทำเรื่องฟ้องต่อศาลเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีนัดไกล่เกลี่ย หากเจรจากันได้ ก็จะใช้เวลาเพียง 2-4 เดือนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ร้อยละ 85% จะจบที่ชั้นไกล่เกลี่ยทั้งนั้น แต่หากไม่สามารถตกลงเจรจากันได้ ก็จะใช้เวลานานยิ่งขึ้นและก็จะต้องมีการนัดสืบพยานโจทก์จำเลยกันต่อไป ซึ่งหลักฐานที่สำคัญในการจะฟ้องศาลนั้น ต้องมีหลักฐานที่แสดงว่าเขานั้นเป็นบิดาของลูกอย่างแท้จริง เช่น ใบสูติบัตรที่มีชื่อพ่อเป็นบิดา บิดายินยอมให้ลูกใช้นามสกุล บิดายินยอมให้ลูกอยู่ในทะเบียนบ้าน หรือผลตรวจ DNA แต่ถ้าไม่มีเลย ก็อาจขอให้ศาลสั่งให้บิดาตรวจ DNA ก็ได้ และหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเลี้ยงดูบุตรต่อเดือน โดยส่วนใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือนขึ้น โดยยึดจากฐานะ อาชีพ รายได้ของบิดามารดา เพื่อให้เหมาะสมแก่บุตร
          4. แต่ถ้าหากมีคำสั่งของศาลให้บิดาชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้ว บิดาก็ยังเพิกเฉยไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มารดาสามารถ ขอคำบังคับคดีจากศาล เพื่อจะได้ออกคำบังคับคดีให้มีการอายัดเงินเดือน หรือทรัพย์สิน มาชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ หรือหากบิดามีเงินที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดู แต่หลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่าย ก็ขอให้ศาลสั่งให้กักขังจำเลยไว้ชั่วคราว เป็นครั้งๆไป จนกว่าจะชำระค่าเลี้ยงดุบุตรได้ และค่าเลี้ยงดูบุตรที่ศาลพิพากษาแล้ว หากในอนาคตมีพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นมีความใช้จ่ายที่สูงขึ้น ก็สามารถร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงดูบุตรได้

          หากต้องการให้สำนักงานทนายนิธิพล เป็นผู้ดูแลคดีของคุณ สามารถนัดปรึกษากับทนายแบบละเอียดก่อนได้ โดยทนายจะพิจารณาจากความยากง่ายของคดีเป็นหลัก และเมื่อทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดกับหลักฐานทั้งหมดจึงจะประเมินค่าดำเนินการที่ชัดเจนได้ โดยแอดไลน์เบอร์ 095-453-4145 เพื่อขอนัดคิวสำหรับการทำเรื่องฟ้องต่อศาล สำนักงานทนายนิธิพลมีทีมงานที่พร้อมดูแลพร้อมให้คำปรึกษา เพื่อดูแลผลประโยชน์ของคุณให้ได้มากที่สุด

          การกำหนดค่าว่าจ้างของทนายไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่ความยากง่ายของคดี ต้องเอารายละเอียดทั้งหมดพร้อมหลักฐานมานัดคุยรายละเอียดก่อน ถึงจะกำหนดค่าดำเนินการทั้งหมดที่ชัดเจนได้ ความยากง่ายของคดีมีอะไรบ้าง 1.ข้อเท็จจริงของคดีมีเยอะแค่ไหน 2.เป็นเรื่องกฎหมายทั่วๆไปหรือไม่ 3.มีความซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน 4.พยานหลักฐานทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลมีมากน้อยแค่ไหน 5.กรอบระยะเวลาในการทำงานมากน้อยแค่ไหน 5.คู่กรณีหรือทนายฝ่ายตรงข้ามมีความรู้ความเชียวชาญทางด้านกฎหมายมากน้อยแค่ไหน 6.ความเสี่ยงที่ทนายจะต้องได้รับมีหรือไม่ เป็นต้น หากทนายกำหนดค่าทนายโดยยังไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด จะทำให้ทนายคิดค่าทนายที่ไม่เหมาะสมได้ โดยอาจคิดสูงเกินไปหรือต่ำเกินไปจนทนายไม่คุ้มที่จะทำงาน อีกทั้งยังต้องดูอุปนิสัยของผู้ว่าจ้างด้วยว่าเป็นคนอุปนิสัยเป็นอย่างไร สามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่

 

 
                                                                               ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน 
                                                                                             ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้