พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Last updated: 3 มิ.ย. 2562  |  3355 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

                                                                                          พระราชบัญญัติ

                                                                              ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

                                                                                            พ.ศ. ๒๕๔๓

                  
                                                                                  ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

                                                                         ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
                                                                             เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

                             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระธรรมนูญศาลยุติธรรมจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 
                                มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓”

 

                               มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว

                               มาตรา ๔  ให้ใช้บทบัญญัติท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

                               มาตรา ๕  พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ไม่ว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                               บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เว้นแต่มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับแก่คดีในลักษณะดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

                                 มาตรา ๖  ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะที่มีอาวุโสถัดจากรองประธานศาลฎีกา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น คนที่สาม และรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคอยู่ในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ต้องไม่เกินวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

                                  ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค เฉพาะที่มีอาวุโสถัดจากรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคคนที่หนึ่ง อยู่ในวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ต้องไม่เกินวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

                                  ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มีหน้าที่ช่วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามที่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และอธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย แล้วแต่กรณี

                                มาตรา ๗  บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ ระเบียบ ข้อบังคับ และบรรดาคำสั่งต่าง ๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ตรา หรือออกโดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ออกใช้บังคับแทน

                               มาตรา ๘  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 
                                                                                                       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                                                                                                    ชวน  หลีกภัย

                                                                                                                   นายกรัฐมนตรี


                                                                                           

 

                                                                                                                  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

                                                                                                                                   หมวด ๑
                                                                                                                                  บททั่วไป

                  
                                 มาตรา ๑[๒]  ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญนี้มีสามชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

                                 มาตรา ๒  ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น

                                มาตรา ๓[๓]  ศาลชั้นอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์

                                มาตรา ๔[๔]  ศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น อาจแบ่งส่วนราชการเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และจะให้มีอำนาจในคดีประเภทใดหรือคดีในท้องที่ใด ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของแต่ละศาลนั้นแยกต่างหากโดยเฉพาะก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

ศาลชั้นต้นอาจเปิดทำการสาขาในท้องที่อื่นใด และจะให้มีอำนาจในคดีประเภทใดหรือคดีในท้องที่ใด ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้นแยกต่างหากโดยเฉพาะก็ได้ โดยให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

การกำหนดและการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาล ให้ออกเป็นประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่ออกตามความในมาตรานี้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 
                                มาตรา ๕[๕]  ให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมเพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน และให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในการปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง

                               มาตรา ๖  ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง การยุบเลิก หรือการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลของศาลยุติธรรมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ  ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงจำนวน สภาพ สถานที่ตั้ง และเขตอำนาจศาลตามที่จำเป็นเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปโดยเรียบร้อยตลอดราชอาณาจักร

                               มาตรา ๗  ให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดจำนวนผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมให้เหมาะสมตามความจำเป็นแห่งราชการ

                                มาตรา ๘  ให้มีประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกาหนึ่งคน ประธานศาลอุทธรณ์ประจำศาลอุทธรณ์หนึ่งคน ประธานศาลอุทธรณ์ภาคประจำศาลอุทธรณ์ภาค ศาลละหนึ่งคน และให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น ศาลละหนึ่งคน กับให้มีรองประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ประจำศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคประจำศาลอุทธรณ์ภาค และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินหกคน รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้[๖]

                              เมื่อตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่างลง หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหลายคน ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน[๗]

                             ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามวรรคสอง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคสาม ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้

 

                             มาตรา ๙  ในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลละหนึ่งคน
 เมื่อตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้

                              มาตรา ๑๐  ในกรณีที่มีการแบ่งส่วนราชการในศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์ หรือศาลชั้นต้นออกเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกหรือผู้พิพากษาหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น แผนกหรือหน่วยงานละหนึ่งคน[๘]

เมื่อตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกหรือผู้พิพากษาหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามวรรคหนึ่งว่างลง หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในแผนกหรือในหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้นเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในแผนกหรือในหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในแผนกหรือในหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้นเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะทำการแทนในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้

 

                                มาตรา ๑๑  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑)[๙] นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้

(๒) สั่งคำร้องคำขอต่าง ๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

(๓) ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว

(๔) ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

(๕) ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในบรรดากิจการอันเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล

(๖) ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ

(๗) มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีอำนาจตาม (๒) ด้วย และให้มีหน้าที่ช่วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์  ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี ตามที่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมอบหมาย

 
                                    มาตรา ๑๒  ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกหรือผู้พิพากษาหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ต้องรับผิดชอบงานของแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้เป็นไปโดยเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่ได้จัดตั้งแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นนั้น และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้น

                   

                                  มาตรา ๑๓[๑๐]  ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละหนึ่งคน จำนวนเก้าภาค มีสถานที่ตั้งและเขตอำนาจตามที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ภาคละสามคน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคมากกว่าสามคนแต่ไม่เกินหกคนก็ได้

เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่างลง หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้

 

                                    มาตรา ๑๔  ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวด้วยคดี หรือรายงานกิจการอื่นของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน

(๒) ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำงานชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสามเดือนในอีกศาลหนึ่งโดยความยินยอมของผู้พิพากษานั้นก็ได้ แล้วรายงานไปยังประธานศาลฎีกาทันที

ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วย โดยให้มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง (๒) และให้มีหน้าที่ช่วยอธิบดีผู้พิพากษาภาคตามที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมอบหมาย[๑๑]

 

                                                                                                                 หมวด ๒

                                                                                                           เขตอำนาจศาล

                   

                                   มาตรา ๑๕  ห้ามมิให้ศาลยุติธรรมศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลยุติธรรมอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 
                                  มาตรา ๑๖  ศาลชั้นต้นมีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา[๑๒]

ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานครนอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้

ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา ศาลแพ่งหรือศาลอาญา แล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ

(ยกเลิก)[๑๓]

 

                                  มาตรา ๑๗  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง

 
                                 มาตรา ๑๘[๑๔]  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙/๑ ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น

                                  มาตรา ๑๙  ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น

ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี

                                มาตรา ๑๙/๑[๑๕]  บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงนั้นถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป

                                  มาตรา ๒๐  ศาลยุติธรรมอื่นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นหรือกฎหมายอื่นกำหนดไว้

                                 มาตรา ๒๑  ศาลอุทธรณ์มีเขตตลอดท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค

ในกรณีที่มีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ และคดีนั้นอยู่นอกเขตของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาคที่มีเขตอำนาจ

                                 มาตรา ๒๒  ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอำนาจศาล และมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) พิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(๒) วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามกฎหมาย

(๓) วินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น

 
                                  มาตรา ๒๓  ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้เสนอต่อศาลฎีกาได้โดยตรง และคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่กรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา[๑๖]

คดีที่ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว คู่ความไม่มีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไป

 

                                                                                                                      หมวด ๓

                                                                                                            องค์คณะผู้พิพากษา

                  
                                 มาตรา ๒๔  ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น

(๒) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

 
                                มาตรา ๒๕  ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(๑) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง

(๒) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย

(๓) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(๔) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

(๕) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (๓) (๔) หรือ (๕)

 
                                 มาตรา ๒๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง

                                มาตรา ๒๗  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้ว มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้ และเฉพาะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย

                                  มาตรา ๒๘  ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(๑) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกา หรือรองประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย

(๒) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี มอบหมาย

(๓)[๑๗] ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มอบหมาย

ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๓ มีอำนาจตาม (๑) (๒) และ (๓) ด้วย

 

                                     มาตรา ๒๙  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(๑) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา

(๒) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี

(๓)[๑๘] ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๓ มีอำนาจตาม (๑) (๒) และ (๓) ด้วย

 
                                  มาตรา ๓๐  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษาในคดีนั้นได้

 
                                 มาตรา ๓๑  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา ๒๕ (๕)

(๒) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา ๒๕ (๕) แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว

(๓) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้นจะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้

(๔) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา ๒๕ (๔) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

 

                                                                                                      หมวด ๔

                                                                                  การจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวนคดี

                  

                                  มาตรา ๓๒  ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในแต่ละศาล แล้วแต่กรณี รับผิดชอบในการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลหรือในแผนกคดีนั้น โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม

                                   การออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมขององค์คณะผู้พิพากษาที่จะรับผิดชอบสำนวนคดีนั้น รวมทั้งปริมาณคดีที่องค์คณะผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะรับผิดชอบ

                                  มาตรา ๓๓  การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้[๑๙]

                                      ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษา ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคน หรือมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็น[๒๐]
                                     ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
ในกรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะผู้พิพากษามีคดีค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นล่าช้า และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะผู้พิพากษานั้นขอคืนสำนวนคดีที่ตนรับผิดชอบอยู่ ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจรับคืนสำนวนคดีดังกล่าว และโอนให้ผู้พิพากษาหรือองค์คณะผู้พิพากษาอื่นในศาลนั้นรับผิดชอบแทนได้


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาครบองค์คณะและผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบกับมาตรา ๒๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และได้ห้ามการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี นอกจากนี้ ได้มีการตรากฎหมายตามมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา  ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้การจัดระบบการบริหารงานศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมสอดคล้องกับกฎหมายซึ่งตราขึ้นตามมาตรา ๒๗๕ ดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๐[๒๑]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้กำหนดให้ศาลชั้นต้นมีเขตอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่ทันกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ทางปกครอง และไม่เอื้อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลชั้นต้นสามารถกระทำได้อย่างคล่องตัว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลชั้นต้นสามารถกระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐[๒๒]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้กำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกาหนึ่งคน รองประธานศาลอุทธรณ์ และรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองประธานศาลฎีกามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันปริมาณงานของประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลอุทธรณ์ภาคได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สมควรกำหนดให้มีการเพิ่มการกำหนดจำนวนรองประธานศาลฎีกาได้ไม่เกินหกคน และจำนวนรองประธานศาลอุทธรณ์หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคได้ไม่เกินสามคน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์และประธานศาลอุทธรณ์ภาค  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑[๒๓]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและการกลั่นกรองจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจให้คำแนะนำแก่ข้าราชการตุลาการ และให้ผู้ที่รับผิดชอบการบริหารงานของศาลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้ง ทั้งยังสมควรเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕[๒๔]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยปริมาณงานตุลาการและงานธุรการคดีของศาลยุติธรรมได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับแต่ผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลงานของศาลยุติธรรมในส่วนภูมิภาคมีอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพียงคนเดียว ไม่มีผู้ช่วยปฏิบัติราชการ ทำให้ราชการของศาลยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และปริมาณคดีที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นมีความล่าช้ากระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและคู่ความในคดี  ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมโดยกำหนดตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคและอำนาจหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘[๒๕]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

มาตรา ๑๐  บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ให้ถือว่าอ้างถึงการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นอุทธรณ์ เว้นแต่เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าใช้ได้เฉพาะกับศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ศาลใดศาลหนึ่งเท่านั้น

 

มาตรา ๑๑  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษ สมควรกำหนดความหมายของคำว่า “ศาลชั้นอุทธรณ์” ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลดังกล่าว อีกทั้งสมควรกำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกประกาศเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้น รวมทั้งให้มีอำนาจกำหนดและเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งของศาลได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และในกรณีคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงถ้ามีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ก็ให้ศาลดังกล่าวนั้นมีดุลพินิจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่รับฟ้องไว้แล้วนั้นต่อไปหรือโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีอำนาจก็ได้ แต่หากในกรณีที่ศาลดังกล่าวได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีไว้แล้วโดยในขณะยื่นฟ้องคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง หรือกรณีเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด แต่ต่อมามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทำให้คดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้การบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

ปณตภร/ผู้จัดทำ

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

นุสรา/เพิ่มเติม

๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๑/๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓
[๒] มาตรา ๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๓] มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๔] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๕] มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
[๖] มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๗] มาตรา ๘ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๘] มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๙] มาตรา ๑๑ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
[๑๐] มาตรา ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๑๑] มาตรา ๑๔ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๑๒] มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๐
[๑๓] มาตรา ๑๖ วรรคสี่ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๑๔] มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๑๕] มาตรา ๑๙/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘
[๑๖] มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑
[๑๗] มาตรา ๒๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๑๘] มาตรา ๒๙ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
[๑๙] มาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๒๐] มาตรา ๓๓ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
[๒๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๒๑/๕ กันยายน ๒๕๕๐
[๒๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๑ ก/หน้า ๒๔/๕ กันยายน ๒๕๕๐
[๒๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๔๔/๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
[๒๔] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๓๗ ก/หน้า ๑/๒๗ เมษายน ๒๕๕๕
[๒๕] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๕/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

                                                       

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้