พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพ.ศ. 2522

Last updated: 3 มิ.ย. 2562  |  4571 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพ.ศ. 2522

                                                                                       พระราชบัญญัติ

                                                                                 การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                                                                                        พ.ศ. ๒๕๒๒

                  

 

                                                                                   ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

                                                                        ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒

                                                                             เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 
                              โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

                               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒”

 

                                มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                                 มาตรา ๓  บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

                               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
 
                            “เด็ก” หมายความว่า ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                            “องค์การสวัสดิภาพเด็ก” หมายความว่า มูลนิธิ สมาคม หรือองค์การที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์เด็ก และปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                             “ศาล” หมายความว่า ศาลคดีเด็กและเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลจังหวัดในท้องที่ที่ไม่มีศาลคดีเด็กและเยาวชน

                            “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

                            “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ*

                            “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                            “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

                          มาตรา ๕[๒]  เพื่อคุ้มครองเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                             การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแก่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

 

                              มาตรา ๕/๑[๓]  การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือในการรับรองบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศโดยหน่วยงานซึ่งมีอำนาจของประเทศดังกล่าวรับรองว่าได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาข้างต้นแล้ว และการรับบุตรบุญธรรมนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัตินี้

                             ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือในการรับรองบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศในราชกิจจานุเบกษา

 

                               มาตรา ๖  ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ* ส่วนราชการที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ*มอบหมาย หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

 

                               มาตรา ๗  องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ประสงค์จะดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากอธิบดี

หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต การอนุญาตและแบบใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

                              มาตรา ๘  ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาตให้องค์การสวัสดิภาพเด็กได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗ ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลไปยังองค์การสวัสดิภาพเด็กนั้นโดยไม่ชักช้า องค์การสวัสดิภาพเด็กมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

                             ในกรณีที่องค์การสวัสดิภาพเด็กซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๗ แล้วฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาต หรือกระทำการเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือต่อสวัสดิภาพเด็ก อธิบดีมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

                               มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม” ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมตำรวจ ผู้แทนกรมอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินแปดคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นสตรีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

                              มาตรา ๑๐  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อมให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

 

                            มาตรา ๑๑  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

                           (๑) ตาย

                           (๒) ลาออก

                           (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
 
                           (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

                           (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

 

                           มาตรา ๑๒  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

                             มาตรา ๑๓  คณะกรรมการอาจตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จะมอบหมายก็ได้

การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

                              มาตรา ๑๔  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

                             (๑) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ

                              (๒) พิจารณา และมีมติในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                              (๓) พิจารณาเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

                              (๔) ให้คำแนะนำในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแก่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

                             มาตรา ๑๕  ให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่จัดตั้งขึ้นในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ* ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

 

                            มาตรา ๑๖  เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้

                          (๑) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สถานสงเคราะห์ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานอันเป็นที่อยู่ของเด็ก หรือสำนักงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อพบ สอบถาม สืบเสาะข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และการเลี้ยงดูเด็ก หรือตรวจตราการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก กับมีอำนาจตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวเพื่อพบตัวเด็กหรือนำเด็กกลับคืน แต่การตรวจค้นเช่นว่านี้จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และได้แสดงหนังสือนั้นให้เจ้าของหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้นตรวจดูแล้ว

ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดค้นด้วยตนเอง ไม่ต้องมีหนังสืออนุญาตให้ค้น

                        (๒) สั่งเป็นหนังสือให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นมาให้หรือให้นำเด็กมาพบ หรือมอบเด็กคืน

 

                          มาตรา ๑๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

                         มาตรา ๑๘  ห้ามมิให้ผู้ใดพาหรือจัดส่งเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

                         มาตรา ๑๘/๑[๔]  ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือเป็นคนกลางกระทำการชักจูงโดยให้ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นที่มิควรได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

                          มาตรา ๑๙  การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีการทดลองเลี้ยงดูและได้รับอนุมัติให้รับเป็นบุตรบุญธรรมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

                          การทดลองเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่ร่วมบิดามารดา พี่ร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม หรือเป็นบุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง[๕]

 

                            มาตรา ๒๐  ผู้ใดประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

                            ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครหรือต่างประเทศให้ยื่นต่ออธิบดี ส่วนในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

 

                               มาตรา ๒๑  เมื่อได้รับคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

การสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง[๖]

 

                                 มาตรา ๒๒  เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้ว แต่กรณี ได้พิจารณารายงานการสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงหรือเอกสารแสดงข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ แล้ว ให้พิจารณาว่าจะควรให้ผู้ขอรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูต่อไปหรือไม่

                                 ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งว่าไม่ควรให้นำเด็กไปทดลองเลี้ยงดู ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด

 

                             มาตรา ๒๓  เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ทดลองเลี้ยงดูเด็กแล้วให้ผู้ขอรับเด็กรับมอบเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมไปทดลองเลี้ยงดูได้

การทดลองเลี้ยงดูต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน

หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการทดลองเลี้ยงดูให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

                             มาตรา ๒๔  ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู ถ้าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือพนักงานเจ้าหน้าที่

                              การมอบเด็กคืนตามวรรคหนึ่งต้องกระทำโดยไม่ชักช้า ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนำเด็กไปมอบคืนตามกำหนดโดยให้คำนึงถึงระยะทาง ความสะดวกในการนำเด็กไปมอบ และสวัสดิภาพของเด็ก

 

                               มาตรา ๒๕  ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู บิดาหรือมารดาไม่ว่าจะเป็นผู้ให้ความยินยอมหรือไม่ อาจขอให้ยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเสียก็ได้โดยยื่นคำขอต่ออธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กคืนแก่บิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ขอยกเลิกและให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                                 ในกรณีที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการขอยกเลิกคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อสวัสดิภาพของเด็ก หรือบิดาหรือมารดาที่เป็นผู้ขอยกเลิกนั้น ได้ถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครองแล้ว ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทดลองเลี้ยงดูเด็กต่อไป ผู้ยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งอาจอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด

 

                              มาตรา ๒๖  ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้เลิกการทดลองเลี้ยงดูให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                              ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่ง โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

คำสั่งของศาลชั้นต้นตามวรรคสองให้เป็นที่สุด

 

                             มาตรา ๒๗  เมื่อได้มีการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคณะกรรมการสั่งอนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

                            เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ถือว่าความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ยื่นตามมาตรา ๒๐ เป็นความยินยอมในการจดทะเบียน

 

                            มาตรา ๒๘  เมื่อได้มีการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคณะกรรมการสั่งไม่อนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี สั่งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กนั้นคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมอบเด็กคืน และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                           ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจร้องต่อศาลให้เด็กอยู่ในความเลี้ยงดูของผู้ร้องก็ได้

คำสั่งของศาลชั้นต้นตามวรรคสองและวรรคสามให้เป็นที่สุด

 

                          มาตรา ๒๙  เมื่อคณะกรรมการอนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๒๗ แล้ว หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๘ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมแล้ว หากผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำอนุมัติของคณะกรรมการ หรือนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และให้มอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                          ในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้มิอาจดำเนินการจดทะเบียนภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องแสดงพฤติการณ์พิเศษต่อคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และคณะกรรมการอาจพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออกไปอีกไม่เกินสามเดือนนับแต่วันที่พฤติการณ์พิเศษนั้นได้สิ้นสุดลง[๗]

 

                           มาตรา ๓๐  เมื่อมีการอุทธรณ์คำสั่งโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนั่งพิจารณาให้อธิบดี ประธานกรรมการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ แล้วแต่กรณี

 

                             มาตรา ๓๑  การพิจารณาคดีและการอ่านคำสั่งศาลเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัตินี้ให้กระทำโดยลับ เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ

(๑) บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และทนายความ

(๒) ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและทนายความ

(๓) ผู้คัดค้านและทนายความ

(๔) พนักงานศาล

(๕) พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ขององค์การสวัสดิภาพเด็กที่เกี่ยวข้อง

(๖) พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม

(๗) บุคคลที่ศาลเรียกให้มาแถลงข้อเท็จจริง และบุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควร

ถ้าศาลเห็นว่าในขณะหนึ่งขณะใด บุคคลบางคนไม่ควรอยู่ในห้องพิจารณา ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลทั้งหมดหรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าไม่สมควรนั้น ออกไปนอกห้องพิจารณาก็ได้

 

                             มาตรา ๓๑/๑[๘]  ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมประสงค์จะเลิกรับบุตรบุญธรรม หากบุตรบุญธรรมนั้นยังเป็นเด็ก ก่อนที่จะมีการขอจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมหรือก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความสัมพันธ์ในเบื้องต้น และจะต้องเข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาเยียวยาก่อน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

                            ในกรณีที่มีการเลิกรับบุตรบุญธรรม หากบุตรบุญธรรมนั้นยังเป็นเด็ก และเด็กนั้นเคยอยู่ในความปกครองของสถานสงเคราะห์ในขณะที่มีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่จะดูแลเด็กนั้นต่อไป ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อจัดให้เด็กได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก โดยผู้รับบุตรบุญธรรมที่เลิกรับบุตรบุญธรรมนั้นยังคงมีหน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาตามสมควรและตามความสามารถของตนจนกว่าเด็กนั้นจะบรรลุนิติภาวะและจำต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูต่อไปหากเด็กนั้นเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้แม้ว่าจะบรรลุนิติภาวะแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่บุตรบุญธรรมกระทำการต้องด้วยมาตรา ๑๕๙๘/๓๓ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือมีผู้รับบุตรบุญธรรมผู้อื่นรับอุปการะเลี้ยงดู บุตรบุญธรรมผู้นั้นไม่มีสิทธิได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามความในมาตรานี้  ทั้งนี้ ในการเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการและพนักงานอัยการจะฟ้องคดีแทนก็ได้

 

                             มาตรา ๓๒  ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณารูป ชื่อ หรือข้อความใดซึ่งจะทำให้รู้จักตัวเด็กที่จะเป็นหรือเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดาหรือผู้ปกครองของเด็กที่จะเป็นหรือเป็นบุตรบุญธรรม หรือผู้ขอรับหรือรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและห้ามมิให้โฆษณาคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

 

                            มาตรา ๓๓  การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

 

                            มาตรา ๓๔[๙]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

                            มาตรา ๓๔/๑[๑๐]  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘/๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

                            มาตรา ๓๕  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ (๑) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา ๑๖ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

                              มาตรา ๓๖  ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมฝ่าฝืนไม่ส่งมอบเด็กคืนตามความในมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

                                มาตรา ๓๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

                               มาตรา ๓๘[๑๑]  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

 

                               มาตรา ๓๘/๑[๑๒]  ผู้ใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๘/๑ นอกราชอาณาจักร โดยรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย ผู้นั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักร และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

                               มาตรา ๓๙  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส.  โหตระกิตย์

รองนายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งแต่เดิมเคยจำกัดอยู่เฉพาะในระหว่างเครือญาติและผู้รู้จักคุ้นเคยกันนั้น บัดนี้ได้แพร่ขยายออกไปสู่บุคคลภายนอกอื่น ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว สมควรกำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไว้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญและป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก ตลอดจนประโยชน์ของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

                     

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๓[๑๓]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากข้อยกเว้นไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่กำหนดไว้ตามกฎหมายปัจจุบัน คือพี่ร่วมบิดามารดา พี่ร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองนั้น ปรากฏว่ายังมีกรณีอื่นซึ่งสมควรได้รับการยกเว้นอีก เช่น กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะรับบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย จึงสมควรแก้ไขกฎหมายโดยเปิดโอกาสให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีที่จะได้รับยกเว้นเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕[๑๔]

 มาตรา ๓๒  ในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” คำว่า “กรมประชาสงเคราะห์” เป็น “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ” และคำว่า “อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์” เป็น “อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ”

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย  ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓[๑๕]

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ มีบทบัญญัติบางประการที่ยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือในการรับรองบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ และพิธีสารเลือกรับต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่อง การค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี สมควรกำหนดให้การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศ ซึ่งได้กระทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว มีผลเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย และกำหนดโทษผู้ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือเป็นคนกลางโดยมีค่าตอบแทนที่มิควรได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๖ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๘/๑ ซึ่งกระทำนอกราชอาณาจักรโดยรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร นอกจากนี้ สมควรกำหนดให้มีการเยียวยาแก้ไขปัญหาก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรมและกำหนดค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูภายหลังเลิกรับบุตรบุญธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางในการสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม และขยายเวลาในการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออกไปได้ หากมีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐[๑๖]

 

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๘ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๒๘/๔ และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒/๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖  ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 


ชวัลพร/ปรับปรุง

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

นุสรา/ตรวจ

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้