คดีเช็ค,คดีตั๋วแลกเงิน,คดีตั๋วสัญญาใช้เงิน - ทนายนิธิพล

Last updated: 27 ต.ค. 2564  |  20296 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คดีเช็ค,คดีตั๋วแลกเงิน,คดีตั๋วสัญญาใช้เงิน - ทนายนิธิพล

               

                                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่สำคัญ

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2548

                        จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขวันที่ลงในเช็ค ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น เช็คพิพาทเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิด

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2547

                          ตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยมาโดยตลอด ทั้งที่พยานจำเลยมีเพียง 2 ปาก ซึ่งรวมทั้งตัวจำเลยด้วย ทั้งคดีเช็คนี้เป็นคดีไม่ยุ่งยาก ศาลชั้นต้นก็ให้โอกาสจำเลยเพื่อนำพยานมาสืบ ครั้นเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้สืบพยานจำเลยใหม่ก็มีการขอถอนทนายจำเลยและเมื่อจำเลยทราบเรื่องการถอนตัวของทนายจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 จำเลยก็ไม่ขวนขวายแต่งทนายความคนใหม่จนกระทั่งถึงวันนัดจึงได้แต่งทนายความคนใหม่ ทั้งที่ศาลนับสืบพยานจำเลยวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และในวันนัดจำเลยก็ไม่มาศาลทั้งที่จำเลยเป็นพนักงานอัยการทำงานอยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ที่จำเลยฎีกาว่าทนายความคนใหม่ติดว่าความคดีอื่นนั้น ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าจำเลยจงใจที่จะแต่งตั้งทนายความที่ติดว่าความคดีอื่นเพื่อขอเลื่อนคดีต่อไป จำเลยเป็นพนักงานอัยการคดีแพ่งก็ย่อมทราบเรื่องคดีตัวเองดี ถึงแม้ทนายจำเลยจะติดว่าความคดีอื่น จำเลยสามารถที่จะมาศาลและอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานได้ด้วยตนเองและจำเลยทราบล่วงหน้าแล้วว่าศาลนัดสืบพยานจำเลย จำเลยย่อมมีเวลาที่จะหาทนายความคนใหม่ที่มีวันว่างที่จะมาศาลได้ เหตุที่จำเลยอ้างจึงไม่เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และจำเลยก็ไม่แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่ให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547

                          เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3050/2544

                           คำฟ้องในแต่ละกรรมที่โจทก์หาว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ไม่มีข้อความอันแสดงความหมายเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างไรซึ่งศาลจะได้หยิบยกขึ้นพิจารณาได้ โดยเฉพาะโจทก์เพียงแต่บรรยายสรุปว่า ข้อความทั้งหมดเป็นความเท็จทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนคนอ่านไม่ทราบความจริงเข้าใจว่าโจทก์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศโดยไม่มีข้อความตอนใดยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางเพศกับ ส.ซึ่งเป็นกระเทย เมื่อฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในมูลละเมิดอันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีในส่วนอาญาเสียแล้วย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2541

                           แม้ตามสัญญาจำนองที่ดินจะระบุว่า สัญญาจำนองมีกำหนดเวลา 5 ปี แต่ก็มีข้อตกลงในสัญญาจำนองเกี่ยวกับการชำระ ดอกเบี้ยไว้ว่า ผู้จำนองตกลงนำส่งดอกเบี้ยเดือนละครั้งเสมอไป ดังนั้น การที่จำเลยผู้จำนองจะไม่ต้องถูกบังคับจำนองก่อนครบเวลา 5 ปี จำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองคือต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือน เมื่อปรากฏว่า จำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดนัด ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองทั้งหมดโจทก์ย่อมมีอำนาจบอกกล่าวทวงถาม และฟ้องบังคับจำนองได้ โดยไม่จำต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 5 ปี เสียก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บังคับจำนองกับที่ดิน โฉนดเลขที่ 3382 เป็นการคลาดเคลื่อนไป โดยที่ดินแปลงที่จำเลย นำมาจำนองไว้กับโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3386 ศาลฎีกาควรแก้ไข เสียให้ถูกต้อง

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2538

                          ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ว. และจำเลยมีว่าจำเลยยอมรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์และ ว. และยอมรับว่าจะชำระเงินให้โจทก์และ ว. เมื่อศาลได้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ถ. เจ้ามรดกและผู้จัดการมรดกได้จำหน่ายที่ดินแล้วโดยโจทก์และ ว. ยอมถอนคำร้องทุกข์ในคดีเช็คที่ได้แจ้งความไว้ข้อตกลงเช่นนี้เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา850ซึ่งมีผลทำให้หนี้เดิมคือหนี้ตามเช็คระงับไปเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อผู้จัดการมรดกของ ถ. ได้ประกาศขายที่ดินตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วโดยเมื่อขายได้แล้วจะต้องแบ่งเงินให้แก่จำเลยและจำเลยจะต้องนำไปชำระให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงดังนั้นอำนาจในการจัดการมรดกรวมตลอดถึงการขายที่ดินมรดกตามข้อตกลงจึงขึ้นอยู่กับผู้จัดการมรดกมิใช่ขึ้นอยู่กับจำเลยหรือสุดแล้วแต่ใจของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนข้อตกลงดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา152(เดิม)ไม่

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2536

                           การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อใช้หนี้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อยู่เสียเปรียบ ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะอ้างว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยเปิดเผยและสุจริต ไม่ทราบเรื่องหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องสามีจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 2 ก็รับโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปโดยขณะทำการโอนนั้นเจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งเรื่องที่โจทก์ขออายัดที่ดินพิพาทให้ทราบแล้ว จำเลยที่ 2ยังยืนยันให้โอนแก่บุคคลภายนอก แสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้ถึงข้อความจริงขณะรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ถือว่าเป็นการฉ้อฉลต่อโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้
 

                            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4597/2531

                            โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนขายบ้านให้โจทก์จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยขายบ้านให้โจทก์ สัญญาซื้อขายบ้านที่โจทก์อ้างเป็นเอกสารปลอมและเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทำสัญญาขายบ้านให้โจทก์แล้วจำเลยทำสัญญาเช่าบ้านด้วย แสดงเจตนาซื้อขายบ้านเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ ดังนี้แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทำสัญญาขายบ้านให้แก่โจทก์แล้วทำสัญญาเช่าบ้านนั้นอาจทำให้จำเลยเสียสิทธิเป็นที่เสียหายหรือเป็นโทษแก่จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นดังกล่าวได้

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2518

                          อายุความฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนด 3 ปีตามมาตรา 1001ส่วนมาตรา 1002 เป็นกำหนดอายุความฟ้องคดีเช็คและตั๋วเงินสด(ในกรณีที่เป็นผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย)

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2530

                           อายุความฟ้องร้องคดีเช็ค 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 นั้นนับแต่วันเช็คถึงกำหนดคือวันที่ลงในเช็ค หาใช่วันที่เขียนเช็คดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น ฎีกาของจำเลย ที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็น สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2536

                           จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์หลายคราวแล้วสั่งจ่ายเช็คจำนวน 25 ฉบับ ลงวันที่สั่งจ่ายระหว่างเดือนมิถุนายน 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529 ให้โจทก์เพื่อชำระค่าสินค้า เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ก็ได้สั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่แทนฉบับเดิมพร้อมดอกเบี้ยตลอดมาและเมื่อเช็คที่เปลี่ยนถึงกำหนด โจทก์เรียกเก็บธนาคารตามเช็คก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีก การกระทำดังกล่าวเป็นกรณีจำเลยที่ 1 กระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้วอายุความในการเรียกร้องค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมสะดุดหยุดลงและอายุความจะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับอันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามเช็คเป็นต้นไป เมื่อเช็คฉบับหลังสุดที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 531,134 บาท ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2529 โจทก์นำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จึงยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าเป็นเช็คประกันหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อนั้น เป็นเรื่องวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าไม่มีหนี้สินต่อกันประกอบกับการฟ้องคดีเช็คทางอาญานั้น ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ดังนั้นในการพิจารณาคดีแพ่งศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2557
 

                          โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม

 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560

                           มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง


                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2560

                          ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 24 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 และมาตรา 23/3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยมาตรา 23/3 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คดีนี้เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสะสมด้วยเหตุออกจากงานให้แก่โจทก์ไว้ก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานแล้วใช้สิทธิคงเงินทั้งหมดที่จะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา 23/3 เงินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 24
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2560

                          เงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (2) เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ส่วนมาตรา 40 (6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระรวมถึงการบัญชี ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน เมื่อเงินได้เกี่ยวกับการรับทำงานให้ของผู้ประกอบวิชาชีพล้วนเป็นการรับจ้างบริการในลักษณะเดียวกัน การจะพิจารณาว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด นอกจากจะต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานที่ทำว่าเป็นการประกอบวิชาชีพโดยตนเองอาศัยความรู้ความชำนาญและได้รับเงินตามปริมาณผลงานที่ทำหรือไม่แล้ว ยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกันด้วย เพราะหากไม่พิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีเงินได้จากลักษณะงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อยก็จะอ้างว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) เพื่อหักค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้จริง เมื่อเงินได้พึงประเมินที่บริษัท ห. จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าที่ปรึกษาวางระบบบัญชี มาจากการรับทำงานให้ที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนโดยไม่เกี่ยวกับปริมาณงาน และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีค่าใช้จ่าย เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) หาใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่
 

                           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560

                           ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2560

                        คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค แต่ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นเรื่องละเมิดอ้างว่าจำเลยเบิกความเท็จ แต่ก็เรียกค่าเสียหายมาเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์มีจุดประสงค์เพื่อให้ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเป็นพยานเท็จรับฟังไม่ได้ จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

 

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560

                      จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)
 

                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2560
 
                       จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จัดเตรียมเช็คให้โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินให้แก่คู่ค้าและลูกค้าของโจทก์ โดยเป็นผู้พิมพ์ข้อความในเช็ค เป็นผู้เก็บเช็คนำเช็คเข้าบัญชี และนำเช็คมามอบให้แก่คู่ค้าหรือลูกค้าของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความไว้วางใจและเชื่อใจจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำการดังกล่าวโดยมิได้มีระบบการตรวจสอบที่ดี เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ปลอมแปลงเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่คู่ค้าและลูกค้า โดยวิธีลบชื่อผู้รับเงินเดิมในช่องจ่าย แล้วพิมพ์ชื่อของตนเองทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 3 กับนำเช็คที่ปลอมดังกล่าวทั้ง 48 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินเสียเอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้สมุดคู่ฝากหรือเช็คไปและนำใบถอนเงินหรือเช็คมาขึ้นเงินกับธนาคารและธนาคารได้จ่ายเงินไปตามใบถอนเงินหรือเช็คนั้น ธนาคารไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ตามข้อ 3 ของคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งได้ความว่า ตัวอักษรที่พิมพ์เช็คพิพาทนั้นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเครื่องเดียวกัน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าจะมีส่วนที่สามารถลบคำผิดได้อยู่ในตัว จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีโอกาสลบข้อความเดิมในเช็คและพิมพ์ข้อความได้อย่างแนบเนียนโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเดิม จึงเป็นการยากที่จะสามารถเห็นความแตกต่างของตัวอักษรที่ปรากฏใหม่กับตัวอักษรของข้อความอื่นที่มีอยู่เดิมได้ เมื่อพิเคราะห์ในช่องผู้รับเงินด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่า ตัวอักษรพิมพ์ชื่อผู้รับเงินกับตัวอักษรจำนวนเงินเหมือนกันและไม่ปรากฏร่องรอยพิรุธที่ทำให้เห็นว่ามีการลบชื่อผู้รับเงินเดิมออกและพิมพ์ทับชื่อผู้รับเงินใหม่ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับเงินดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 48 ฉบับให้แก่ผู้นำเช็คมาเรียกเก็บเงิน จึงไม่เป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คคืนแก่โจทก์
 
 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2560

                          โจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของ ป. และนำเช็คพิพาทจาก ก. ภริยาโจทก์ มาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2559

                         เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการพร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้าโดยเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/27 และบุคคลตามมาตรา 90/26 วรรคสอง เป็นผู้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีรายการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/42 โดยที่มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทั้งนี้ตามมาตรา 90/27 กล่าวคือ เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนแทนการได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม
                   คดีนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติตามมาตรา 90/46 เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม กรณีเช่นนี้ตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเจ้าหนี้ในหนี้อื่นที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จากมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เนื่องจากมาตรา 90/78 บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในมาตรา 90/68 ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น และมีผลให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ในขณะนั้นจะไม่เปิดช่องให้กระทำได้" ฉะนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม เจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงชอบที่จะขอรับชำระหนี้ตามจำนวนหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการไว้ตามมาตรา 90/32 หาใช่จำนวนหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/42 (3) (ข) ไม่ ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะรับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ตามมาตรา 90/61 เจ้าหนี้ผู้นั้นจึงหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง เช่นกัน
                      เจ้าหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/61 (1) ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผน และอาจได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนไปตามแผนแล้ว ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม ซึ่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดดังกล่าวไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น ดังนั้น สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผนก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/68 วรรคสาม จึงขึ้นอยู่กับผลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลที่เคยอนุญาตให้เจ้าหนี้นั้นได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ด้วย เมื่อคดีนี้เจ้าหนี้อุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลางเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ปรากฏสิทธิของเจ้าหนี้รายนี้ในการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม และเมื่อนำทรัพย์สินที่เจ้าหนี้อาจได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแผน (ถ้ามี) ไปหักออกแล้ว จึงจะทราบยอดหนี้สุทธิที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา 90/77 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/78 ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป

 

                          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2559

                          เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับมีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยที่ 14 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 14 ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ 14 จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับซึ่งเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 14 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 14 จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 14 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 14 เอง จำเลยที่ 14 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ค. กรรมการโจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของตนบริเวณชั้นสองของอาคารที่ทำการ ซึ่ง ค. ทำงานที่อาคารชั้นสองเพียงคนเดียว ส่วนพนักงานคนอื่น ๆ ทำงานชั้นล่างของอาคาร พนักงานจะขึ้นไปต่อเมื่อ ค. เรียกเข้าพบเท่านั้น โต๊ะทำงานและลิ้นชักดังกล่าวล็อกกุญแจไว้ทุกครั้ง กุญแจจะอยู่ที่ ค. เพียงคนเดียว ดังนี้ ฟังได้ว่าโจทก์ได้เก็บรักษาเช็คพิพาทดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 14 ทราบเมื่อเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับเกิดการสูญหายและมีผู้ไม่สุจริตนำไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้กระทำโดยประมาท จำเลยที่ 14 จะหยิบยกข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดของตนมาปัดความรับผิดไม่ได้ ในคดีอาญา เป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเลคทรอนิกส์ ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 14 เป็นจำเลย ในข้อหาละเมิด ฝากทรัพย์ คดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ทั้งจำเลยที่ 14 ในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 14 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

                       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2559

                        พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ.2540 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 ให้แก่ (1) บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ไว้เพียงสองกรณี คือ กรณีแรก ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กรณีที่สอง ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีตามกรณีแรกให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น เมื่อ บริษัท ท. ประกอบกิจการหลักเป็นผู้ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจเรือเดินทะเล มีรายได้หลักคือเงินปันผล มิได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับเงินปันผลจากบริษัท ท. จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ดังกล่าว

 

 

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้