แม่ข่าย คดีดิไอคอน จะมีความผิดด้วยหรือไม่ และสู้คดีอย่างไร

Last updated: 20 พ.ย. 2567  |  60 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แม่ข่าย คดีดิไอคอน จะมีความผิดด้วยหรือไม่ และสู้คดีอย่างไร

            แม่ข่าย คดีดิไอคอน กรุ๊ป The Icon Group จะมีความผิดด้วยหรือไม่ และสู้คดีอย่างไร

            ตามข่าวในช่องทางต่างๆที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่าจะมีการจะดำเนินคดีกับแม่ข่ายของคดี The Icon ที่มีการชักชวนให้ผู้อื่นลงทุนต่อ โดยแม่ข่ายที่มีลูกข่ายแม้จะเพียง 1 คน ซึ่งคำนิยามคำว่า "แม่ข่าย" ว่าจะต้องมีลูกข่ายจำนวนเท่าใดก็ยังคงเป็นที่ถงเถียงกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามบทความนี้จะมาบอกแนวทางว่าแม่ข่ายจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่และแนวทางในการสู้คดีเป็นอย่างไร หากแม่ข่ายถูกดำเนินคดีในความผิดอาญาในข้อหาใดๆก็ตามก็สามารถที่จะใช้แนวทางดังต่อไปนี้เป็นแนวทางในการสู้คดีได้

             ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2298/2566 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และ 2 ชักชวนโจทก์ให้เข้าเป็นสมาชิกและลงทุนในบริษัท ว. โดยยืนยันจะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อวัน (ปกติฝากประจำ 3 เดือนได้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี) เป็นเวลา 300 วัน ทำให้โจทก์และคนอื่นหลงเชื่อและร่วมลงทุน ทั้งทีจำเลยที่ 1 และ 2 รู้อยู่แล้วว่า บริษัท ว. ไม่มีตัวตนและไม่สามารถประกอบการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 และ 2 ได้เงินหรือทรัพย์สินจากโจทก์เช่นนี้ โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 โจทก์กระทำโดยสุจริตชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาเป็นสมาชิกและร่วมลงทุน อันเกิดจากการจูงใจของจำเลยที่ 1 และ 2 เพื่อหวังรางวัลตอบแทน มิได้เกิดจากเจตนาหลอกลวงของโจทก์ เมื่อสมาชิกลงทุนมากขึ้น จำเลยที่ 1 และ 2 ก็ได้ประโยชน์มากขึ้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 และ 341

            ตามคำพิพากษาฎีกานี้เป็นฎีกาสำคัญและใช้เป็นแนวทางได้โดยจะเห็นได้ว่า หากเป็นการหลงเชื่อและกระทำโดยสุจริต แม้จะมีการชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุนไม่ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยในข้อหาฉ้อโกง และสามารถเป็นผู้เสียหายได้ และแม้จะได้ผลตอบแทนมามากกว่าจำนวนเงินทุนแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเบื้องต้นแม่ข่ายก็อาจจะถูกดำเนินคดีก่อนได้ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยหาทนายความ ประกันตัว และสู้คดีในศาลตามแนวทางตามคำพิพากษาฎีกาในข้างต้นหากข้อเท็จจริงปรากฎต่อศาลว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและเชื่อโดยสุจริตการชักชวนคนมาลงทุนต่อเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องซึ่งเท่ากับไม่มีความผิดใดๆ

             สรุป แม่ข่ายเมื่อถูกดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชักชวนการลงทุนของบริษัทดังกล่าวก็สามารถที่จะสู้คดีได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2298/2566 เพราะฉะนั้นการที่ถูกข่มขู่ว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลแต่อย่างใด



             ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ

แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้