488 จำนวนผู้เข้าชม |
การดำเนินคดีข้อหาโกงเจ้าหนี้ มาตรา 350
การดำเนินคดีข้อหาโกงเจ้าหนี้นั้นจะเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาล เช่นการที่เจ้าหนี้ไปดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ต่อศาลเรียบร้อยแล้ว หรือเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ก็เช่น เจ้าหนี้ได้มีการส่งหนังสือทวงถามหรือโนติส โดยมีข้อความว่าจะใช้ดำเนินคดีต่อศาลเมื่อไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา และหลังจากนั้นลูกหนี้ได้มีการยักย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ดำเนินการยึดหรือายัดทรัพย์ดังกล่าวได้ เช่น หลังจากเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว ลูกหนี้ ซึ่งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพียงแห่งเดียว ได้ดำเนินการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปให้ลูก โดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้สามารถมายึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว กรณีนี้ ลูกหนี้จึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
และอีกกรณีหนึ่งก้คือ แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันที่ไม่เป็นความจริง เช่น ลูกหนี้ไปตกลงกับเพื่อนของลูกหนี้ โดยแกล้งทำสัญญากู้ยืมขึ้นมาว่าเป็นหนี้จำนวน 1 ล้านบาท ทั้งที่ไม่เป็นความจริง และทำการโอนทรัพย์สินให้แก่เพื่อนลูกหนี้ โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่น เช่นนี้ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เช่นเดียวกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากมีการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วจะมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้นเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องแจ้งความหรือฟ้องศาลภายใน 3 เดือน นับแต่รู้หรือควรจะรู้ถึงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
แต่ทั้งนี้การจะดำเนินคดีกับลูกหนี้ในข้อหาโกงเจ้าหนี้นั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่น จะต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง เช่นมีการกู้ยืมเงินกันจริงๆ เป็นหนี้ที่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น จะต้องไม่เป็นหนี้การพนัน หรือหนี้จากการซื้อของที่ผิดกฎหมาย จะต้องไม่มีทรัพย์สินอื่นๆที่สามารถยึดอายัดได้ที่เพียงพอแก่มูลหนี้ เช่น ลูกหนี้ได้โอนทรัพย์ไป แต่ยังมีทรัพย์สินอื่นๆของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยังสามารถยึดทรัพย์ได้อยู่ โอนทรัพย์สินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นที่เป็นหนี้ก่อนในราคาอันเหมาะสม โอนทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับได้ เช่น โอนที่ดิน สปก. เป็นต้น หรือโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
สำนักงานทนายความ สำนักงานกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น