Last updated: 12 ก.ค. 2566 | 9140 จำนวนผู้เข้าชม |
ยักยอกทรัพย์ ต้องฟ้องหรือแจ้งความภายใน 3 เดือน
การยักยอกทรัพย์นั้น คือการเบียดบังเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม เช่น ท้าวแชร์แอบเงินของลูกแชร์เป็นของตนเอง มีคนโอนเงินผิดเข้ามาในบัญชีแล้วนำเงินออกไปใช้ ผิดสัญญากับไฟแนนซ์และเอารถไปขาย เป็นเจ้าของรวมในที่ดินแต่ไปทำเอกสารปลอมโอนเป็นของตนเองคนเดียว มีหน้าที่ดูแลเงินในบริษัทแต่เอานำเงินออกไปใช้ส่วนตัว เป็นผู้จัดการมรดกแต่โอนทรัพย์มรดกเป็นของตัวเองโดยไม่แบ่งแก่ทายาทคนอื่น เป็นต้น ซึ่งคดียักยอกทรัพย์นั้น จะบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งองค์ประกอบความผิดของคดียักยอกทรัพย์มีดังต่อนี้
1. ผู้ใด กล่าวคือ จะต้องมีสภาพเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย
2. ครอบครอง กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สิน หรือเจ้าของทรัพย์สินร่วมนั้น ยินยอมให้ครอบครองทรัพย์ไว้แทน อาทิเช่น พนักงานบัญชีของบริษัทมีหน้าที่ดูแลเงินแทนเจ้าของบริษัท แต่กลับนำเงินดังกล่าวโอนออกมาบัญชีตัวเอง
3. เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม กล่าวคือ จะต้องมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวนั้นมาเป็นของตนเอง หรือจะนำทรัพย์สินนั้นไปให้แก่บุคคลอื่นก็ได้
4. โดยเจตนาทุจริต กล่าวคือ มีความมุ่งหมายที่จะเอาทรัพย์มาเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ หรือโดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าของทรัพย์สินหรือเจ้าของทรัพย์ร่วมดังกล่าว
เมื่อเข้าองค์ประกอบของความผิดแล้ว ผู้เสียหายที่ถูกยักยอกทรัพย์ไปมีสิทธิฟ้องต่อศาลโดยว่าจ้างทนายความฟ้องต่อศาลโดยตรงได้เลย หรือจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่ที่ถูกยักยอกทรัพย์ได้ แต่การจะฟ้องร้องหรือแจ้งความจะต้องกระทำภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงเหตุการถูกยักยอกทรัพย์ หากไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องหรือแจ้งความภายใน 3 เดือน คดีอาญาจะขาดอายุความทันที ซึ่งถึงแม้ว่าจะตกลงเจรจากับผู้กระทำความผิดให้ชดใช้เงินกันได้แล้วก็ตามก็ยังจำเป็นที่จะต้องแจ้งความข้อหายักยอกทรัพย์ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ หากภายหลังผู้กระทำความผิดไม่ชดใช้เงิน ซึ่งคดียักยอกทรัพย์เป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ ผู้เสียหายจะถอนแจ้งความเมื่อไหร่ก็ได้ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดี หรือแม้จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว แต่หากมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ยังสามารถถอนแจ้งความได้เช่นเดียวกัน ส่วนการดำเนินคดีไม่ว่าจะแจ้งความหรือฟ้องต่อศาล ต้องกระทำภายในเขตพื้นที่ที่ความผิดยักยอกทรัพย์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น ยักยอกทรัพย์ที่สถานที่ตั้งของบริษัท สถานที่ตั้งของบริษัทจึงเป็นที่ที่มูลคดีเกิด เป็นต้น
หากคุณกำลังประสบปัญหากับการที่ถูกยักยอกทรัพย์ คุณสามารถติดต่อสอบถามสำนักงานทนายความของเราได้ หรือจะให้ทางสำนักงานกฎหมายของเราดำเนินการทำคำร้องทุกข์เพื่อแจ้งความ หรือฟ้องร้องต่อศาล คุณก็สามารถติดต่อช่องทางการติดต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ สำนักงานทนายความของเรายินดีและพร้อมจะช่วยเหลือคุณอย่างเต็มที่
ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
แฟนเพจ FB : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น
4 มี.ค. 2567
27 ก.พ. 2567
14 มี.ค. 2567
27 ก.พ. 2567