กรณีรถชนกัน ดูอย่างไรฝ่ายไหนผิด - ทนายนิธิพล

Last updated: 2 พ.ย. 2565  |  81880 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีรถชนกัน ดูอย่างไรฝ่ายไหนผิด - ทนายนิธิพล

กรณีรถชนกัน ดูอย่างไรฝ่ายไหนผิด

 

          ในปัจจุบันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งเรียกได้ว่าเกิดขึ้นทุกวัน คืออุบัติเหตุทางท้องถนนที่เกิดขึ้นมากมายหลายกรณี ทั้งที่สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อย และสร้างความเสียหายมากจนถึงขั้นสูญเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุหลักๆของการเกิดอุบัติเหตุนั้น ก็คือไม่เคารพกฎจราจร ขับขี่รถโดยประมาท ใช้ความเร็วเกินกำหนด และขับรถขณะมึนเมา

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักตามมาหลังจากเกิดอุบัติเหตุคือ “ใครเป็นฝ่ายผิด” หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีการยอมรับอาจทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ซึ่งถ้ารถคันที่เกิดเหตุมีประกัน มีกล้องหน้ารถ หรือบริเวณที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดก็คงจะไม่ยุ่งยากนัก เพราะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ตัวแทนประกันก็จะทำหน้าที่เจรจาไกลเกลี่ยให้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานอะไรเลยในการพิสูจน์ด้วยแล้วอาจต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลกัน

          ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุในบางครั้งก็มีความคลุมเครือว่าลักษณะแบบนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น หากเราขับรถชนท้ายคันหน้า เราจะต้องเป็นฝ่ายผิดเสมอไปหรือไม่ กับอีกกรณีคือหากมีรถตัดหน้าแล้วเราขับชนโดยไม่เบรกหรือหักหลบจะมีความผิดหรือไม่ หรือกรณีรถใหญ่ชนกับรถเล็ก รถใหญ่เป็นฝ่ายผิดเสมอไปหรือไม่  ดังนั้นจึงต้องแยกพิจารณาเป็นกรณีๆไป ดังต่อไปนี้

 

               1.)  กรณีรถชนท้าย ใครเป็นฝ่ายผิด?

                แม้ว่าส่วนใหญ่รถคันที่ขับรถชนท้ายมักจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิด โดยรถคันหลังต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 150 เมตร แต่ใช่ว่ากรณีรถชนท้ายผู้ที่เป็นฝ่ายชนจะผิดเสมอไป เพราะต้องดูปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ซึ่งตามกฎหมายพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ระบุชัดเจนว่า “ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างคันหน้าพอสมควรในระะยะที่หยุดรถได้โดยปลอดภัยเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ” ซึ่งหมายความว่ารถยนต์คันหลังจะต้องขับด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ถ้าใครไปชนท้ายเขาก็แปลว่าไม่ทำตามกฎหมาย เข้าข่ายเป็นฝ่ายผิด

               อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจำเป็นต้องพิจารณาจาสถานการณ์ขณะที่เกิดเหตุประกอบด้วยว่าเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร เช่น หากมีการพิสูจน์ได้ว่าคันหน้าเบรกกะทันหันจนทำให้คันหลังเบรกไม่ทันจนเกิดชนท้ายกันและคันหลังได้เว้นระยะห่างตามกฎหมายแล้ว คันที่เบรกกระทันหันก็จำเป็นต้องรับผิดในกรณีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นต้นเหตุของภัยที่เกิดขึ้น ถ้าคันหลังได้ขับรถโดยประมาทไม่เว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้าแล้วก็ให้เกิดการชนท้ายขึ้นกรณีนี้ฝ่ายที่ชนท้ายจะต้องรับผิด ฉะนั้นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายคนขับรถทั้งคันหน้าและคันหลังควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถด้วย

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14975/2557 แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างรถคันหน้าพอสมควรในระยะที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัยในเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ” ก็ตาม แต่ได้ความว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์เยื้องไปทางด้านหลังซ้ายรถยนต์ที่ ร. ขับ ดังนี้ จำเลยจึงขับรถอยู่คนละช่องเดินรถกับรถที่ ร. ขับ และเหตุที่รถที่จำเลยขับชนรถที่ ร. ขับเนื่องมาจาก ร. เบี่ยงรถมาทางด้านซ้าย กรณีจึงถือไม่ได้ว่ารถที่ ร. ขับเป็นรถคันหน้าที่จำเลยต้องขับรถให้ห่างพอสมควรที่จะหยุดรถได้โดยปลอดภัยเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งได้ความว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สิน จำเลยจึงไม่มีความผิด

               2.)  รถตัดหน้ากระทันหันแล้วชนกัน ใครเป็นฝ่ายผิด?

               กรณีที่เราขับรถอยู่ในช่องทางของเราแล้วถูกรถคันอื่นขับมาตัดหน้าหรือปาดหน้ากระทันหัน โดยคันที่มาตัดหน้าจะได้ให้สัญญาณไฟหรือไม่ได้ให้ก็ตาม เมื่อเกิดการชนไม่ว่าจะชนจากด้านข้างหรือท้ายผู้ที่ขับรถอยู่ในช่องทางของตัวเองจะไม่มีความผิด เนื่องจากรถคันที่ตัดหน้าหรือปาดหน้ามากระทันหันนั้นถือว่ามีการเปลี่ยนเลนส์ในระยะไม่ปลอดภัย ซึ่งกรณีนี้จะเข้าข่ายความผิดขับรถโดยประมาทหวาดเสียวอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน

                  ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ

                  (1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ

                  (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

                  (3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร

                  (4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน

                  (5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย

                  (6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ

                  (7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ

                  (8) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

                  (9) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นที่ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจมองเห็นทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือทั้งสองด้าน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น”

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2545 ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4) และ 157 ต้องเป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และตามมาตรา 78 และ 160 ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อจำเลยจอดรถในทางเดินรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),78,157 และ 160 วรรคหนึ่งปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวทั้งสองข้อหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, มาตรา 215, มาตรา 225

               3.)  รถชนกันตรงทางแยก ใครเป็นฝ่ายผิด?

               หากเรากำลังขับรถแล้วอยู่ในทางเอกหรือทางตรง เรามักคิดว่ายังไงรถทางโทก็ต้องให้ทางรถที่อยู่ในทางเอกก่อนและถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมายังไงรถทางเอกก็เป็นฝ่ายถูกอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะกฏหมายจราจรได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขับรถบริเวณทางร่วมทางแยกไว้ ซึ่งโดยปกติแล้วทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโทให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน ซึ่งกรณีที่รถยนต์ 2 คันมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน

               แต่อย่างไรก็ดี การขับรถในทางร่วมทางแยกนอกจากจะดูว่าใครขับทางเอกหรือทางโทแล้ว ตามกฎหมายจราจรยังมีการกำหนดในเรื่องความเร็วที่ให้ขับอยู่ในอัตราความเร็วที่ต่ำซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

                  มาตรา 70  ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2531  การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถทุกเส้นทางที่มาบรรจบทางร่วมทางแยกจะต้องลดความเร็วลงให้อยู่ในอัตราความเร็วต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายอันอาจเกิดจากการชนกันระหว่างรถที่กำลังแล่นผ่าน หาใช่ว่าผู้ที่ขับมาในทางเอกจะใช้ความเร็วในอัตราสูง โดยขับผ่านทางร่วมทางแยกไปโดยปราศจากความรั้งรอไม่ว่าจะมีรถในทางเดินรถทางโทแล่นมาถึงพร้อมกันหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขับรถแล่นเข้าไปในทางร่วมที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงทั้งที่ควรลดความเร็วลง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุขึ้นทำให้ชนกับรถคันที่จำเลยที่ 2 ขับมาเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ ย่อมถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย

               4.)  รถชนตอนออกจากซอยเลี้ยวเข้าถนนเลนเดียว ใครเป็นฝ่ายผิด?

               กรณีที่ข้างหน้าเป็นสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เราจะขับรถเลี้ยวขวาที่สามแยกเห็นรถมาขวา 1 คันแต่อยู่ในระยะปลอดภัย จึงได้ขับเลี้ยวขวาออกไปแต่รถที่ขับมาเลนซ้ายขับมาชนใครเป็นคนผิด เราต้องพิจารณาพฤติการณ์ของคนขับรถทั้งฝ่ายที่จะเลี้ยวออกจากซอยเข้าเลนขวาหรือรถคันที่มาทางตรงจากทางซ้าย ว่าทั้ง 2 คันได้ใช้ความระมัดระวังมากน้องเพียงใดและขับมาด้วยความเร็วหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2528  เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงสี่แยกก่อนจำเลยที่ 1 หรือขับรถผ่านสี่แยกจนตัวรถเลยถึงกลางสี่แยกไปแล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถอยู่ด้านซ้ายของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.  2522 มาตรา 71 (2) การขับรถในกรณีที่ผู้ขับขี่ต่างขับรถอยู่ในถนนซอยในหมู่บ้าน และกำลังจะผ่านสี่แยก ซึ่งทั้งสี่มุมเป็นบ้านพักอาศัยซึ่งรั้วบ้านสูง จนผู้ขับขี่ไม่สามารถเห็นรถที่อยู่ในทางร่วมทางแยกด้านอื่น ผู้ขับขี่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วม ทางแยกทางข้ามเส้นให้หยุดหรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ขับรถผ่านสี่แยกดังกล่าวโดยมิได้ลดความเร็วของรถและมิได้ให้แตรสัญญาณก่อนขับรถผ่านสี่แยกทั้งที่บริเวณสี่แยกไม่มีเครื่องหมายการจราจรและไม่สามารถเห็นรถซึ่งอยู่ในทางร่วมทางแยกด้านอื่นถือว่าเป็นการขับรถโดยประมาทเมื่อรถซึ่งจำเลยที่ 2 ขับชนกับรถ ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับตรงสี่แยกเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิด

               5.)  รถเลี้ยวออกจากซอยออกถนนใหญ่แล้วชนกัน ใครเป็นฝ่ายผิด?

               ในกรณีนี้ มักจะเกิดที่จากการที่รถที่จะออกจากซอยไม่ชะลอดูรถ ที่วิ่งมาทางตรงว่ามีรถวิ่งมาด้วยความเร็วหรือไม่ ซึ่งการจะดูว่าใครเป็นฝ่ายผิดก็ต้องดูเป็นกรณีๆไป

               คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2520 รถของโจทก์ออกจากซอยสู่ถนนใหญ่ต้องใช้ความระวังมากกว่ารถของจำเลยที่ขับมาตามทางตรงหรือทางเอก แต่เมื่อจำเลยขับรถมาเกินกำหนด 60 กม. ต่อชั่วโมง มิฉะนั้นก็อาจหยุดหรือเกิดความเสียหายน้อยลง การที่รถทั้งสองชนกัน ศาลให้รับผิดฝ่ายละกึ่ง จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง

               6.)  รถในวงเวียนชนกับรถที่วิ่งนอกวงเวียน ใครเป็นฝ่ายผิด?

               การขับรถเข้าจุดวงเวียนผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยให้รถในวงเวียนไปก่อน และคำนวณทิศทางที่จะไปให้แน่นอนเพื่อการใช้ทางที่ถูกต้อง เมื่อเห็นรถว่างจึงให้สัญญาณไฟเลี้ยวแล้วค่อยๆขับเข้าวงเวียนโดยยึดเลนที่ต้องการไป เมื่อถึงช่วงใกล้ทางแยกที่มีเส้นแบ่งช่องจราจรเพื่อเข้าถนนอีกเส้นหนึ่งให้เปิดสัญญาณไฟเพื่อเปลี่ยนเลนอย่างระมัดระวัง

               แต่หากเห็นว่ากระชั้นชิดเกินไป เนื่องจากมีรถขับตามมามากยังไม่สามารถเปลี่ยนเลนได้อย่างปลอดภัยให้ขับไปวนในวงเวียนอีกครั้ง แล้วจึงวนกลับมาจุดเดิมเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องไม่ขับเบียดหรือปาดหน้ารถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด เพราะมีโอกาสที่จะเสียหลักและถูกชนจากรถในเลนอื่นได้

               ซึ่งการขับรถในวงเวียนได้มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ดังนี้

                  ตามมาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุดหรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

                  มาตราที่ 71 ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 ระบุไว้ว่า เมื่อผู้ขับขี่รถมาถึงทางร่วมทางแยกให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้

                  (1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน

                  (2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน

                  (3) ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้

                  มาตรา 73 ในกรณีที่วงเวียนใดได้ติดตั้งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้น ถ้าไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงวงเวียน ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถอยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน

               7.)  ขับรถด้วยความเร็วทั้งคู่ หากชนกันใครผิด?

               ในกรณีนี้หากรถทั้ง 2 ฝ่าย ขับมาด้วยความเร็วแล้วเกิดการชนกันไม่ว่าจะชนกันในลักษณะใดก็ตาม การกระทำของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น เป็นประมาทร่วม ซึ่งคำว่าประมาทร่วมหมายถึง ต่างฝ่ายต่างมีความประมาทไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นแปลว่าทั้งคู่มีส่วนผิดนั่นเอง ทั้งนี้ คำว่าประมาทร่วมในทางกฎหมายนั้นไม่มี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินให้เป็นประมาทร่วมก็ต่างฝ่ายต่างซ่อมแซมค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเอง

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601-1603/2529 จำเลยที่ 1 ขับรถเร็วเกินกว่า 100 กม.ต่อชั่วโมง แม้จะขับอยู่ในถนนทางตรงในเส้นเดินรถของตนแต่ก็ขับด้วยความเร็วสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และไม่ยอมลดความเร็วลงเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุที่มีคนเดินเท้าข้ามถนน แม้จะหักหลบไปทางซ้ายมือแล้วก็ไม่พ้นจึงชนกับรถของจำเลยที่ 3 ที่ขับเลี้ยวขวาข้ามถนนเข้าสู่ทางแยกเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยเร็วไม่หยุดรอให้รถจำเลยที่ 1 ในทางตรงซึ่งอยู่ด้านซ้ายมือผ่านไปก่อน   กลับขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้าในระยะห่างกันเกินกว่า 15 ม. เล็กน้อย ดังนี้ความประมาทของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ก่อให้เกิดขึ้นจึงมิได้ยิ่งหย่อนมากหรือน้อยกว่ากัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความรับผิดในผลแห่งการละเมิดเท่าเทียมกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3

 

          ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเกิดเหตุรถชนกันนั้น เราสามารถบอกได้ทันทีว่าใครจะเป็นฝ่ายผิด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไปถึงแม้ว่าจะขับถูกเลนแต่ขับด้วยความไม่ระมัดระวังก็อาจเป็นฝ่ายผิดได้ หรือหากรถเล็กขับรถด้วยความเร็วหรือด้วยความประมาทหรือทำผิดกฎจราจรและเกิดการเฉี่ยวชนขึ้นมา รถเล็กก็เป็นฝ่ายผิดได้ไม่ได้วัดกันที่ขนาดของรถว่าเล็กหรือใหญ่ 

          อนึ่ง บนท้องถนนอุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้อยู่ทุกเมื่อทั้งรถเล็กรถใหญ่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เวลาขับรถควรใช้ความระมัดระวังและมีสติอยู่ตลอดเวลาของการเดินทาง มีน้ำใจไมตรีต่อกัน และเคารพกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมถนน

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้