การบอกเลิกสัญญา - ทนายนิธิพล

Last updated: 6 ส.ค. 2565  |  29272 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบอกเลิกสัญญา - ทนายนิธิพล

การบอกเลิกสัญญา

การบอกเลิกสัญญาเป็นได้ทั้ง 2 กรณี

          กรณีแรก คือ เกิดจากความต้องการที่จะบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งการบอกเลิกสัญญาในกรณีนี้คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องการจะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งความประสงค์ในการบอกเลิกสัญญาไปให้คู่สัญญาอีกฝ่ายได้ทราบ โดยเมื่อไม่ได้มีการผิดสัญญากัน คู่สัญญาอีกฝ่ายมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ได้ แต่หากยินยอมเลิกสัญญาถือว่าเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาทั้งสองฝ่าย จึงต้องกลับคืนสู่สถานะเดิมเหมือนไม่ได้มีการทำสัญญากันมาก่อน และข้อบังคับในสัญญาจะไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป

          กรณีที่สอง คือ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายได้จากการที่คู่สัญญาอีกฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าว ไม่ว่าเป็นสัญญากู้ยืม สัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาตามบันทึกข้อตกลง สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่า สัญญาร่วมทุน เป็นต้น

          สำหรับการบอกเลิกสัญญาจะมีข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

             มาตรา 386 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

             แสดงเจตนาดังกล่าวในวรรคก่อนมานั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่

             มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้

             มาตรา 388 ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ มิพักต้องบอกกล่าวดังว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย

             มาตรา 389 ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้

             มาตรา 390 ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วย ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในจำพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่นๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย

             มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่

            ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้

             ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น

             การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่

             มาตรา 392 การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369

             มาตรา 393 ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ว่าจะเลิกสัญญาหรือหาไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้นสิทธิเลิกสัญญาก็เป็นอันระงับสิ้นไป

             มาตรา 394 ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญเพราะการกระทำหรือเพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาก็ดี หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็นพ้นวิสัยก็ดี เปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลงก็ดี ท่านว่าสิทธิเลิกสัญญานั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

             แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจากการกระทำหรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาไซร้ สิทธิเลิกสัญญานั้นก็หาระงับสิ้นไปไม่

 

          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่ ซึ่งการบอกเลิกสัญญานั้นมีการบอกเลิกสัญญาได้หลายวิธี ดังจะกล่าวต่อไปนี้

             1.) การเลิกสัญญา โดยอาศัยข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา

             2.) การเลิกสัญญา กรณีที่ข้อสัญญาไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกสัญญาไว้

             3.) การเลิกสัญญา กรณีที่ข้อสัญญาได้กำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติการไว้แล้วโดยชัดแจ้ง

             4.) การเลิกสัญญา กรณีที่การปฏิบัติตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัยเพราะคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

              5.) การบอกเลิกสัญญาต่อคู่สัญญาที่มีหลายคน

          ผลแห่งการเลิกสัญญา ไม่ว่าจะเป็นการเลิกสัญญาด้วยกรณีใด ผลในทางกฎหมายของการเลิกสัญญาย่อมเหมือนกันเสมอ กล่าวคือ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม คือเคยมีอยู่อย่างไรเป็นอยู่อย่างไรก่อนเกิดสัญญา ต้องกลับไปมีอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการทำให้เสื่อมเสียซึ่งสิทธิของบุคคลภายนอกด้วย คือ บุคคลภายนอกเคยได้สิทธิอย่างใดอันเกิดแต่สัญญาที่ทำขึ้น สิทธิของบุคคลภายนอกก็ยังคงมีอยู่แม้ว่าสัญญาซึ่งเป็นฐานแห่งสิทธินั้นจะได้มีการบอกเลิกกันไปแล้ว

          ในกรณีที่ต้องคืนเงินกันเมื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว กฎหมายกำหนดให้สามารถคิดดอกเบี้ยกันได้ด้วย โดยคำนวณย้อนไปถึงวันที่คู่สัญญาฝ่ายนั้นได้รับเงินไว้ตอนทำสัญญา

 

ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

รับว่าความทุกคดี ทั่วราชอาณาจักรไทย

Facebook Fan Page :: ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

เปิดทำการ :: วันจันทร์ – วันเสาร์

เวลาทำการ :: 09:00 - 18:00 น.

เบอร์ติดต่อ (โทรเวลาทำการ) :: 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้