Last updated: 6 ส.ค. 2565 | 29393 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้รับจำนำรถ ไม่มีสิทธิเอารถไปขายต่อ เว้นแต่จะเป็นการขายทอดตลาดและมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และแจ้งการขายทอดตลาดเสียก่อน หากผู้รับจำนำไปขายเองโดยพลการมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ สามารถแจ้งความทันที
ตามมาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยขั้นตอนของผู้รับจำนำรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซร์ การจำนำเป็นการนำทรัพย์สินมาประกันการชำระหนี้ตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อผู้จำนำผิดนัดการชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องมีการส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่ผู้จำนำเพื่อให้ชำระหนี้ดังกล่าวไม่เช่นนั้นจะนำรถที่ได้จำนำไว้ออกขายทอดตลาด ซึ่งเมื่อผู้จำนำไม่ปฎิบัติตามหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว ผู้รับจำนำจึงจะสามารถนำรถออกขายตลอดได้ แต่ก่อนการขายทอดตลอดต้องส่งหนังสือแจ้งการขายทอดตลาดให้ผู้จำนำให้ทราบถึงสถานที่ ระยะเวลาการขายตลาด และอื่นๆเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผู้จำนำสามารถมาสู้ราคาไถ่ถอนรถที่จำนำไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่วางกรอบอำนาจในการขายรถของผู้จำนำไว้
ส่วนการที่ผู้รับจำนำเอารถไปขายเองโดยพลการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ที่สามารถจะกระทำได้ ย่อมมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมสามารถดำเนินการแจ้งความแก่ผู้รับจำนำได้ โดยแจ้งความหรือดำเนินการฟ้องศาลด้วยตนเอง โดยมีกำหนดอาญาความ 3 เดือนนับแต่มีการขายรถดังกล่าว
แต่หากเป็นรถยนต์ที่ยังคงผ่อนอยู่ โดยมีไฟแนนซ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ ส่วนผู้เช่าซื้อเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองรถแล้วนำรถคันดังกล่าวไปจำนำแล้ว รถหลุดจำนำ ไฟแนนซ์มีสิทธิแจ้งความยักยอกทรัพย์ทั้งตัวผู้จำนำและผู้รับจำนำได้ เพราะถือเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เนื่องจากผู้เช่าซื้อมีสิทธิแค่เพียงครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้นไม่มีสิทธินำรถที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิของไฟแนนซ์ไปขาย เมื่อนำไปขายย่อมมีความผิดด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 8392/2561 รับจำนำรถกระบะไว้จากผู้เสียหายแล้วจําเลยขายรถกระบะดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายรวบรวมเงินได้ครบถ้วนพร้อมที่จะไถ่ถอนรถกระบะดังกล่าวจากจําเลยหลังจากพ้นเวลาที่จําเลยผ่อนผันให้แล้วก็ตาม แต่ตามป.พ.พ. มาตรา 764 การบังคับจำนำจะกระทำได้ด้วยการขายทอดตลาดเท่านั้น จําเลยไม่มีสิทธิที่จะขายรถกระบะดังกล่าวด้วยวิธีการอื่น การที่จําเลยขายรถกระบะดังกล่าวจึงเป็นการขายโดยไม่มีสิทธิ ถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต จําเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
9 ส.ค. 2567
21 ส.ค. 2567
30 ก.ค. 2567