ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน  - ทนายนิธิพล

Last updated: 26 ต.ค. 2564  |  8633 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน  - ทนายนิธิพล

ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน          


                ผู้ว่าจ้างอาจจะเจอปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน เบิกเงินไปแล้วแต่ไม่ยอมก่อสร้างใดๆให้แล้วเสร็จ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ว่าจ้างได้ในหลายๆแง่ เช่นเกิดความเสียหายจากการส่งมอบงานที่ล่าช้า ไม่เสร็จตามสัญญา ซึ่งอาจทำให้ผู้ว่าจ้างต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ผิดสัญญานั้น

               และแม้กฎหมายในเรื่องของการจ้างทำของจะไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำหนังสือสัญญา ลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ จึงจะสามารถใช้ฟ้องร้องคดีขึ้นต่อศาลได้ แต่แนะนำว่าผู้ว่าจ้างควรทำหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย และควรระบุสาระสำคัญ เช่น กำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง , กำหนดว่าหากมีการผิดนัดเกิดขึ้นต้องมีการแสดงความรับผิดชอบจากการผิดนัดส่งมอบงานล่าช้านั้นอย่างไร , แบบการก่อสร้าง , ใบแสดงรายละเอียดการใช้วัสดุ การแบ่งจ่ายค่าจ้าง , จะชำระกันกี่งวด และวันที่เท่าไหร่บ้าง สิ่งเหล่านี้ควรทำเป็นสัญญาแสดงให้ชัดเจน

              กรณีที่ผู้รับเหมาทิ้งงานควรทำอย่างไร

              ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้ และหาผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาทำให้เสร็จได้ทันทีหลังจากบอกเลิกสัญญา กรณีเงินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้น ผู้ว่าจ้างสามารถเรียกเงินคืนได้ในส่วนที่ผู้รับเหมาไม่ได้ดำเนินการสร้างต่อ เช่น เบิกไปทั้งหมด 500,000 บาท ผู้รับเหมาได้ก่อสร้างไป 200,000 บาท เช่นนี้ผู้ว่าจ้างสามารถเรียกคืนได้ 300,000 บาท ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องหาคนมาช่วยประเมินราคาในส่วนนี้ด้วย หรือผู้ว่าจ้างสามารถเรียกเงินค่าปรับจากการที่ส่งมอบงานล่าช้าได้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา และในส่วนของค่าเสียหาย ผู้ว่าจ้างสามารถเรียกได้จากความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ค่าเสียหายจากการที่ผู้ว่าจ้างต้องหาผู้รับเหมารายใหม่ , ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการที่ส่งมอบงานล่าช้า เช่น ผู้ว่าจ้างไม่สามารถเข้าไปอยู่ในบ้านได้ทำให้ผู้ว่าจ้างต้องเสียค่าเช่าบ้านเพิ่มไปอีกหลายเดือนเพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน  , ค่าเสียโอกาสที่เราจะได้รับ เช่น ร้านไม่สามารถเปิดร้านได้ตามกำหนดเพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน

             โดยกรณีผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือกลัวผู้รับเหมาจะทิ้งงานสามารถแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ด้วยสัญญา ซึ่งทนายนิธิพลมีเทคนิคการทำสัญญาให้ผู้รับเหมามีโอกาสสูงที่จะไม่ทิ้งงานได้ หากมีสัญญาที่รัดกุม ก็ลดปัญหาการฟ้องร้องหรือความเสียหายที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงได้

             อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือกรณีการบอกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างผู้ว่าจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้รับเหมาทราบเป็นระยะเวลาพอสมควรด้วย

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2541

             แม้การดำเนินการก่อสร้างของโจทก์ล่าช้า คนงานน้อย เครื่องมือไม่ทันสมัย ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่สัญญาว่าจ้างฉบับพิพาทระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้น สัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ชัดแจ้ง ทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามป.พ.พ.มาตรา 387 แต่จำเลยมิได้กระทำ แต่จำเลยกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการก่อสร้างทันที และว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวย่อมเป็นการใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการเลิกสัญญา ตามมาตรา 605

ทนายนิธิพล สำนักงานกฎหมายนิธิลอว์แอนด์วิน
รับว่าความทั่วราชอาณาจักร ปรึกษากฎหมายฟรี
ติดต่อ ทนายนิธิพล โทร 095-453-4145

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้