ถูกหลอกให้รับพัสดุเก็บเงินปลายทาง

Last updated: 9 มี.ค. 2566  |  1092 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถูกหลอกให้รับพัสดุเก็บเงินปลายทาง

          ในปัจจุบันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกซื้อของออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการซื้อของออนไลน์นั้น มีความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางออกไปซื้อเองทำให้ประหยัดเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลายโดยที่ไม่ต้องไปซื้อหลายๆที่  แต่ถึงแม้การซื้อของออนไลน์จะมีข้อดีมากมาย แต่ข้อเสียของการซื้อของออนไลน์ก็มีเช่นกัน ซึ่งข้อเสียในการซื้อของออนไลน์ที่พบได้บ่อยไม่ว่าจะเป็นการได้สินค้าที่ไม่ตรงปกตามที่โฆษณาไว้ สินค้าไม่ครบ ไม่ถูกต้องในเรื่องของคุณภาพ สี ของสินค้า แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถที่จะตกลงคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าได้

         อย่างไรก็ดี เมื่อการซื้อของออนไลน์ได้ถูกใช้เป็นจำนวนมาก จึงมีพวกมิจฉาชีพที่ได้มีการโกงโดยใช้วิธีการส่งพัสดุไปตามบ้านต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับพัสดุบางรายก็ปฏิเสธไม่รับ แต่ก็มีบางรายที่รับไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า คิดว่าตนเองเป็นคนสั่งหรือเป็นของที่ตนเองสั่งไว้ หรือกรณีที่เป็นผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพังแล้วนึกว่าคนในบ้านสั่งจึงรับไว้และยอมจ่ายเงินไป หรือเหตุผลอีกมากมาย แล้วพอแกะกล่องพัสดุ จึงพบว่า เป็นของที่ไม่ได้สั่ง เป็นการหลอกเก็บเงินปลายทาง หรือแม้จะสั่งสินค้า แต่ของที่ได้รับนั้นได้สินค้าไม่ตกปก

         การกระทำที่ส่งพัสดุเพื่อหลอกเก็บเงินปลายทางมีความผิดอย่างไร

         การกระทำของบุคคลที่ได้ส่งพัสดุเรียกเก็บเงินปลายทาง ทั้งที่ผู้รับของไม่ได้สั่งซื้อสินค้า หรือได้ของไม่ตรงปก โดยผิดไปจากที่สินค้าที่สั่งซื้อเป็นอย่างมาก เช่นสั่งเข็มขัดได้ของเล่น สั่งทีวีแต่ได้ทีวีขนาดจิ๋ว แต่ยิ่งหากไม่ยอมคืนเงินด้วยแล้ว การกระทำดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

          องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงมีดังนี้

         1. ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

         2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ

         3. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

         จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลใดส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางไปตามบ้านต่างๆ โดยที่คนในบ้านไม่ได้เป็นผู้สั่งของแต่ต้องจ่ายเงิน การกระทำของบุคคลนั้นจึงมีลักษณะที่มีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่น เพื่อหวังที่จะได้เงินจากผู้ที่ถูกหลอกลวง

         และเมื่อความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้) จึงต้องมีการทำเรื่องฟ้องต่อศาลหรือแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รู้การกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ คือจะไม่สามารถดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้

         คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องหรือเทียบเคียงความผิด (เนื่องจากการกระทำในลักษณะดังกล่าวยังไม่ได้มีคำตัดสินถึงศาลฎีกา)

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558 ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2531 จำเลยหลอกลวงชวนโจทก์ร่วมทั้งสามไปทำงานต่างประเทศเนื่องจาก การหลอกลวงของจำเลย โจทก์ร่วมทั้งสามได้จ่ายเงินให้จำเลยการหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่ต้องการทำ จำเลยเพียงแต่พูดชวนโจทก์ร่วมทั้งสามให้ไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อคดีขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ก็ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551 การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

            




ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

แฟนเพจ : ทนายนิธิพล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

โทร : 095-453-4145 เวลาติดต่อจันทร์-เสาร์ 10.00น – 18.00น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้